พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ส (หน้าที่ 6)

  1. สรตะ
    หมายถึง [สะระ-] น. การคาดคะเนตามเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการพนัน มีหวย ถั่ว โป เป็นต้น; โดยปริยายหมายความว่า การคาดคะเนตามข้อสังเกตหรือสันนิษฐาน, การเก็งหรือการคาดหมายเอาโดยยึดเค้าเดิมเป็นหลัก, เช่น คิดสรตะแล้วงานนี้ขาดทุน, เขียนเป็น สะระตะ ก็มี.
  2. สรตัก
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) ก. เต็มไป, ดาษไป, แน่นไป.
  3. สรทะ
    หมายถึง [สะระ-] น. ฤดูใบไม้ร่วง, ฤดูสารท. (ป.; ส. ศรท).
  4. สรทึง
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) น. แม่นํ้า, ใช้ว่า จทึง ฉทึง ชทึง ชรทึง สทิง หรือ สทึง ก็มี. (ข. สฺทึง ว่า คลอง).
  5. สรนุก
    หมายถึง [สฺระหฺนุก] (กลอน) ว. สนุก.
  6. สรบ
    หมายถึง [สฺรบ] (โบ; กลอน) ว. ทั่ว, พร้อม, เขียนเป็น สรับ ก็มี.
  7. สรบบ
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) น. สารบบ.
  8. สรบับ
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) น. สารบับ.
  9. สรพะ
    หมายถึง [สะระพะ] ว. เสียงดัง, เอ็ดอึง. (ป.; ส. ศรว).
  10. สรภะ
    หมายถึง [สะระ-] น. สัตว์ในนิยายว่ามี ๘ ขา มีกำลังยิ่งกว่าราชสีห์. (ป.; ส. ศรภ).
  11. สรภัญญะ
    หมายถึง [สะระพันยะ, สอระพันยะ] น. ทำนองสำหรับสวดคำที่เป็นฉันท์, ทำนองขับร้องทำนองหนึ่ง, เช่น สวดสรภัญญะ ทำนองสรภัญญะ. (ป.).
  12. สรภู
    หมายถึง [สะระ-] น. ตุ๊กแก. (ป.).
  13. สรม
    หมายถึง [สฺรม] ก. ขอ, มักใช้ว่า สรวม. (ข. สูม). ว. พร้อม.
  14. สรร
    หมายถึง [สัน] ก. เลือก, คัด, เช่น จัดสรร เลือกสรร. (ข. สรัล).
  15. สรรค์
    หมายถึง [สัน] ก. สร้างให้มีให้เป็นขึ้น, มักใช้เข้าคู่กับคำ สร้าง เป็น สรรค์สร้าง หรือ สร้างสรรค์. (ส. สรฺค ว่า สร้างอย่างพระพรหมสร้างโลก).
  16. สรรปาราติ
    หมายถึง ครุฑ, ศัตรูแห่งงู
  17. สรรพ,สรรพ-
    หมายถึง [สับ, สับพะ-] ว. ทุกสิ่ง, ทั้งปวง, ทั้งหมด, เช่น พร้อมสรรพ งามสรรพ เสร็จสรรพ สรรพสิ่ง สรรพสินค้า. (ส. สรฺว; ป. สพฺพ).
  18. สรรพคราส
    หมายถึง น. สุริยุปราคาหมดดวง.
  19. สรรพคุณ
    หมายถึง น. คุณสมบัติของสิ่งที่เป็นยา, โดยปริยายหมายถึงคุณสมบัติ เช่น เขามีสรรพคุณเชื่อถือได้. (ส. สรฺว + คุณ).
  20. สรรพนาม
    หมายถึง (ไว) น. คำที่ใช้แทนชื่อ นาม หรือข้อความที่กล่าวมาแล้ว เพื่อไม่ต้องกล่าวชื่อ นาม หรือข้อความนั้นซ้ำอีก เช่น ฉัน เขา เรา ท่าน.
  21. สรรพสามิต
    หมายถึง [สับพะ-, สันพะ-] น. อากรที่เก็บจากสิ่งประดิษฐ์และผลิตขึ้นภายในประเทศ เรียกว่า อากรสรรพสามิต.
  22. สรรพัชญ
    หมายถึง (แบบ) น. สรรเพชญ. (ส. สรฺวชฺ).
  23. สรรพากร
    หมายถึง [สันพากอน] น. อากรที่เก็บจากสิ่งที่เป็นเองหรือมีบ่อเกิดเป็นรายได้.
  24. สรรพางค์
    หมายถึง [สันระพาง] น. ทั้งตัว, ทั่วตัว, มักใช้เข้าคู่กับคำ กาย เป็น สรรพางค์กาย เช่น เจ็บปวดทั่วสรรพางค์กาย, สารพางค์ ก็ว่า. (ส. สรฺวางฺค).
  25. สรรวง
    หมายถึง [สฺระรวง] (กลอน) น. สรวง.
  26. สรรหา
    หมายถึง ก. เลือกมา, คัดมา, เช่น สรรหาของมาตกแต่งบ้าน คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี.
  27. สรรเพชญ
    หมายถึง (แบบ) น. ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง, ผู้รู้ทั่ว, พระนามของพระพุทธเจ้า, สรรพัชญ ก็เรียก. (ส. สรฺวชฺ; ป. สพฺพญฺญู).
  28. สรรเพชุดา
    หมายถึง [สันเพดชุ-] (แบบ) น. ความเป็นผู้รู้ทุกสิ่ง หมายเอาความเป็นพระพุทธเจ้า. (ส. สรฺวชฺาตฺฤ; ป. สพฺพญฺญุตา).
  29. สรรเพชุดาญาณ
    หมายถึง น. ญาณหรือปัญญาที่รู้ทุกสิ่ง หมายเอาญาณของพระพุทธเจ้า. (ส. สรฺวชฺาน; ป. สพฺพญฺญุตาณ).
  30. สรรเสริญ
    หมายถึง [สันเสิน, สันระเสิน] ก. กล่าวคำยกย่อง เชิดชู หรือ เทิดทูน เช่น สรรเสริญพระพุทธคุณ, กล่าวคำชมด้วยความนิยมพอใจ หรือเยินยอคุณความดี เช่น สรรเสริญคนที่มีความกตัญญูรู้คุณ, สรเสริญ ก็ใช้.
  31. สรรแสร้ง
    หมายถึง ก. เลือกว่า, แกล้งเลือก.
  32. สรลน
    หมายถึง [สฺระหฺลน] (กลอน) ว. สลอน, แน่น; เชิดชู.
  33. สรลม
    หมายถึง [สฺระหฺลม] (กลอน) ว. สล้าง, ดาษ, ระกะ.
  34. สรลมสลวน
    หมายถึง [-สะหฺลวน] ว. แน่นหนา, ดาดาษ, สล้าง, สลอน.
  35. สรลอด
    หมายถึง [สฺระหฺลอด] (กลอน) น. สลอด.
  36. สรลอน
    หมายถึง [สฺระหฺลอน] (กลอน) ว. สลอน.
  37. สรละ
    หมายถึง [สฺระหฺละ] (กลอน) ก. สละ.
  38. สรลิด
    หมายถึง [สฺระหฺลิด] (กลอน) น. ดอกสลิด.
  39. สรล้าย
    หมายถึง [สฺระหฺล้าย] (กลอน) ก. สลาย, แตก, กระจาย, เรี่ยราย, เป็นแนวติด ๆ กันไป.
  40. สรวง
    หมายถึง [สวง] น. ฟ้า, สวรรค์; เทวดา. ก. เซ่น, บูชา, บน.
  41. สรวงเส
    หมายถึง ก. บูชา, เสสรวง ก็ว่า.
  42. สรวป
    หมายถึง [สะหฺรวบ] (โบ) ก. สรุป. (แผลงมาจาก สรุป).
  43. สรวม
    หมายถึง [สวม] ก. ขอ. (ข.).
  44. สรวมชีพ
    หมายถึง ก. ขอชีวิต, ขอจงให้ชีวิตหรือปกป้องชีวิต, ใช้ขึ้นต้นคำกราบบังคมทูลอย่างขอเดชะ.
  45. สรวล
    หมายถึง [สวน] ก. หัวเราะ, ราชาศัพท์ใช้ว่า ทรงพระสรวล.
  46. สรวลสันหรรษา
    หมายถึง ก. หัวเราะร่าเริงยินดี, หัวเราะอย่างชอบอกชอบใจ, เช่น บรรดาศิษย์เก่ามาร่วมสรวลสันหรรษาในงานชุมนุมศิษย์เก่าประจำปี.
  47. สรวลเส,สรวลเสเฮฮา
    หมายถึง ก. หัวเราะร่าเริง, หัวเราะอย่างสนุกสนานครึกครื้น, เช่น เขาชอบหาเรื่องขำขันมาเล่า ทำให้เพื่อน ๆ ได้สรวลเสเฮฮาเสมอ, เสสรวล ก็ว่า.
  48. สรสรก
    หมายถึง [สะระสก] ว. โซก, ซ่ก, โชก, เช่น แล้วมันก็เชือดเอาหัวใจนาง เลือดตกพลางสรสรก แล่นฉวยฉกหาไปบอยู่แล. (ม. คำหลวง กุมาร).
  49. สระ
    หมายถึง [สะระ] น. เสียง. (ป.; ส. สฺวร).
  50. สระ
    หมายถึง [สะ] น. แอ่งนํ้าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเองหรือคนขุด. (ป. สร; ส. สรสฺ).
  51. สระ
    หมายถึง [สฺระ] คำที่แผลงมาจากคำที่ขึ้นต้นด้วยคำ สะ ซึ่งใช้ในบทกลอน เช่น สะท้อน เป็น สระท้อน.
  52. สระ
    หมายถึง [สะหฺระ] น. เสียงพูดที่เปล่งออกมาโดยอาศัยการเคลื่อนไหวของลิ้นและริมฝีปากเป็นสำคัญ แต่ไม่มีการสกัดกั้นจากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในปาก เช่น เสียง อะ อา โดยทั่วไปจะออกเสียงสระร่วมกับเสียงพยัญชนะ หรือออกเสียงเฉพาะเสียงสระอย่างเดียวก็ได้, เสียงสระ ก็เรียก; ตัวอักษรที่ใช้แทนเสียงสระ เช่น ะ า, รูปสระ ก็เรียก. (ป. สร; ส. สฺวร).
  53. สระ
    หมายถึง [สะ] ก. ฟอกให้สะอาดหมดจด ในคำว่า สระหัว สระผม, ชำระล้างให้สะอาด เช่น สระหวี.
  54. สระกอ
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) ว. สะกอ.
  55. สระคราญ
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) ว. สะคราญ.
  56. สระดะ
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) ว. ระดะไป, เกะกะไป, ดาษไป, แน่นไป.
  57. สระท้อน
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) ว. สะท้อน; อ่อน. (ข.).
  58. สระพรั่ง
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) ว. สะพรั่ง.
  59. สระสม
    หมายถึง [สฺระ-] (วรรณ) ว. สวย เช่น พิศดูคางสระสม. (ลอ).
  60. สระอาด
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) ว. สะอาด.
  61. สระอื้น
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) ก. สะอื้น.
  62. สรัสวดี
    หมายถึง [สะรัดสะวะดี] น. เทวีองค์หนึ่งในลัทธิศักติของศาสนาฮินดู เป็นชายาของพระพรหม ถือว่าเป็นเทวีแห่งศิลปวิทยา มีหลายชื่อ เช่น ภารตี พราหมี สารทา, ไทยใช้ว่า สุรัสวดี ก็มี. (ส. สรสฺวตี).
  63. สรั่ง
    หมายถึง [สะหฺรั่ง] น. หัวหน้ากะลาสี. (เปอร์เซีย).
  64. สราญ
    หมายถึง [สะ-] ว. สำราญ.
  65. สริตะ
    หมายถึง [สะริตะ] น. แม่นํ้า, ลำธาร. (ส.; ป. สริตา).
  66. สรีร,สรีร-,สรีระ
    หมายถึง [สะรีระ-] น. ร่างกาย. (ป.; ส. ศรีร).
  67. สรีรกิจ
    หมายถึง น. การทำกิจเกี่ยวกับร่างกาย เช่น ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ; การปลงศพ.
  68. สรีรธาตุ
    หมายถึง น. กระดูกของศพที่เผาแล้ว.
  69. สรีรวิทยา,สรีรศาสตร์
    หมายถึง น. วิชาว่าด้วยสมบัติและการกระทำหน้าที่ของอินทรีย์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนของสิ่งที่เป็นรูปร่างและมีชีวิต. (อ. physiology).
  70. สรีรังคาร,สรีรางคาร
    หมายถึง [สะรีรังคาน, สะรีรางคาน] น. เถ้าถ่านที่ปะปนกับกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยของศพที่เผาแล้ว.
  71. สรีสฤบ
    หมายถึง [สะรีสฺริบ] น. สัตว์เลื้อยคลาน, งู. (ส.; ป. สิรึสป).
  72. สรี้
    หมายถึง [สะรี้] ดู กระซิก ๒.
  73. สรุก
    หมายถึง [สฺรุก] น. เมือง. (ข. สฺรุก).
  74. สรุกเกรา
    หมายถึง [-เกฺรา] น. บ้านนอก. (ข. สฺรุกเกฺรา).
  75. สรุง
    หมายถึง [สุง] (กลอน) น. อำนาจ, เดช.
  76. สรุป,สรูป
    หมายถึง [สะหฺรุบ, สะหฺรูบ] ก. ย่อเอาเฉพาะใจความสำคัญของเรื่องเป็นประเด็น ๆ ไป เช่น สรุปข่าว สรุปสถานการณ์, โบราณใช้ว่า สรวป ก็มี. น. ประเด็นย่อ ๆ ของเรื่อง เช่น กล่าวโดยสรุป.
  77. สรุสระ
    หมายถึง [สะหฺรุสะหฺระ] ว. ขรุขระ, ไม่เรียบร้อย.
  78. สรุโนก
    หมายถึง [สฺรุ-] น. นก. (แผลงมาจาก สุโนก).
  79. สรเพชญ
    หมายถึง [สฺระเพด] น. สรรเพชญ. (ส. สรฺวชฺ).
  80. สรเลข
    หมายถึง [สอระ-] น. ตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองในสมัยโบราณ.
  81. สรเสริญ
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) ก. สรรเสริญ.
  82. สรเหนาะ,สระเหนาะ
    หมายถึง [สฺระเหฺนาะ] (กลอน) ว. เสนาะ, ไพเราะ; วังเวงใจ, เศร้าใจ, เช่น สรเหนาะนิราษน้อง ลงเรือ. (โคลงกำสรวล), สระเหนาะน้ำคว่วงคว้วง ควิวแด. (โคลงกำสรวล). (ข. สฺรโณะ ว่า นึกสังเวช สงสาร วังเวงใจ อาลัยถึง).
  83. สรแทบ
    หมายถึง [สฺระ-] (กลอน) ว. ไม่นูน, ราบ.
  84. สรไน
    หมายถึง [สฺระ-] น. ปี่ไฉน เช่น นักคุณแคนคู่ฆ้อง สรไน. (หริภุญชัย).
  85. สร่ง
    หมายถึง [สะหฺร่ง] น. วิธีฝังเพชรเม็ดเล็ก ๆ ขนาดไข่ปลาลงไปบนพื้นที่ทำให้โปร่ง, ถ้าแกะแรให้ผิวเป็นเหลี่ยมขึ้นเงาดูเหมือนฝังเพชร เรียกว่า ตัดสร่ง.
  86. สร่ง
    หมายถึง [สะหฺร่ง] น. ชื่ออาหารว่างชนิดหนึ่ง ทำด้วยหมูสับคลุกกับรากผักชี พริกไทย น้ำปลา ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ พันด้วยเส้นมี่สั้วลวก ทอดให้เหลืองนวล รับประทานกับน้ำจิ้ม.
  87. สร่าง
    หมายถึง [ส่าง] ก. คลาย, ถอย, ทุเลา, (ใช้แก่ลักษณะความเป็นไปของร่างกายหรืออารมณ์ที่ผิดปรกติจากธรรมดา), เช่น สร่างไข้ สร่างโศก ไข้ยังไม่สร่าง สร่างเมา เมาไม่สร่าง.
  88. สร้อย
    หมายถึง [ส้อย] น. ผู้หญิง, นาง, เช่น จำใจจำจากสร้อย. (ตะเลงพ่าย).
  89. สร้อย
    หมายถึง [ส้อย] น. ชื่อปลานํ้าจืดหลายสกุลในวงศ์ Cyprinidae พบอยู่รวมกันเป็นฝูงในตอนปลายฤดูนํ้าหลาก และว่ายทวนนํ้าขึ้นไปหากินในแหล่งนํ้าที่สูงขึ้นไป ส่วนใหญ่ลำตัวสีขาวเงินและมีจุดคลํ้าหรือจุดดำบนเกล็ดจนเห็นเป็นเส้นสายหลายแถบพาดตามยาวอยู่ข้างตัว เช่น สร้อยขาว (Cirrhinus jullieni), กระสร้อย ก็เรียก.
  90. สร้อย
    หมายถึง [ส้อย] น. คำหรือวลีที่ใช้ลงท้ายวรรค ท้ายบาท หรือท้ายบทร้อยกรอง เพื่อให้ครบตามจำนวน เพื่อความไพเราะของเสียงและความหมายหรือเพื่อแสดงว่าจบตอน เช่น นา เฮย ฤๅ บารนี แก่แม่นา โสตถิ์เทอญ, คำสร้อย ก็ว่า; คำที่เติมหรือประกอบคำอื่นเพื่อให้ไพเราะหรือเต็มความ เช่น เสื้อแสง หนังสือหนังหา, คำต่อท้ายราชทินนาม เช่น พระราชปัญญาสุธี ศรีปริยัติธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ สกลนิติธรรมศาสตราจารย์ มหิบาลมหาสวามิภักดิ์ ปรมัคราชมนตรีอภัยพิริยปรากรมพาหุ.
  91. สร้อย
    หมายถึง [ส้อย] ก. โศก.
  92. สร้อย
    หมายถึง [ส้อย] น. ขนคอสัตว์ เช่น สร้อยคอไก่ สร้อยคอสิงโต; เครื่องประดับที่ทำเป็นเส้น เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ, สายสร้อย ก็เรียก.
  93. สร้อย
    หมายถึง [ส้อย] น. ดอกไม้ เช่น สร้อยสลา.
  94. สร้อยทอง
    หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Solidago polyglossa DC. ในวงศ์ Compositae ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อ.
  95. สร้อยทะแย
    หมายถึง น. ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง.
  96. สร้อยนกเขา
    หมายถึง น. ดู ข้างตะเภา. ดู ขี้ขม ดู ทองลิน.
  97. สร้อยน้ำผึ้ง
    หมายถึง ดู รากกล้วย.
  98. สร้อยระย้า
    หมายถึง น. (๑) ชื่อกล้วยไม้อิงอาศัยชนิด Otochilus fusca Lindl. ในวงศ์ Orchidaceae ดอกเล็ก สีขาว ออกเป็นช่อห้อยลง กลิ่นหอม. (๒) ชื่อไม้พุ่มอิงอาศัยชนิด Medinilla magnifica Lindl. ในวงศ์ Melastomataceae ใบรูปไข่เป็นมัน เส้นกลางใบสีขาวนวล ดอกสีชมพู ออกเป็นช่อห้อยลง.
  99. สร้อยระย้า
    หมายถึง น. ชื่อตุ้มหูชนิดหนึ่งที่มีระย้าห้อยลงมา.
  100. สร้อยสน
    หมายถึง น. สร้อยที่ถักเป็นลายคดกริช; ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง; ชื่อกลบทชนิดหนึ่ง.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ส (หน้าที่ 6)"