พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด บ (หน้าที่ 10)

  1. เบญกานี
    หมายถึง น. ชื่อไม้พุ่มชนิด Polyscias scutellaria (Burm.f.) Fosberg ในวงศ์ Araliaceae แผ่นใบแบน ขอบใบห่อขึ้นเล็กน้อย ใบด้านบนเป็นลายด่างสีขาวนวล เขียว และเขียวอ่อนปนกัน, ครุฑกระทง ก็เรียก.
  2. เบญจ,เบญจ-,เบญจะ
    หมายถึง [เบนจะ-] ว. ห้า, ลำดับที่ ๕ เช่น นาเบญจะ หัวเมืองเบญจะ มาตรา ... เบญจะ. (ป. ปญฺจ; ส. ปญฺจนฺ), มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.
  3. เบญจก
    หมายถึง [เบนจก] น. หมวด ๕. (ป. ปญฺจก).
  4. เบญจกัลยาณี
    หมายถึง น. หญิงมีลักษณะงาม ๕ ประการ คือ ๑. ผมงาม ๒. เนื้องาม (คือ เหงือกและริมฝีปากแดงงาม) ๓. ฟันงาม ๔. ผิวงาม ๕. วัยงาม (คือ ดูงามทุกวัย). (ป. ปญฺจกลฺยาณี).
  5. เบญจกามคุณ
    หมายถึง น. เครื่องผูกอันบุคคลพึงใคร่ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่ถูกต้องด้วยกาย. (ป. ปญฺจกามคุณ).
  6. เบญจกูล
    หมายถึง น. เครื่องยา ๕ อย่าง คือ ขิง ดีปลี ช้าพลู สะค้าน เจตมูลเพลิง. (ส. ปญฺจโกล).
  7. เบญจขันธ์
    หมายถึง น. กอง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.
  8. เบญจคัพย์
    หมายถึง น. เต้านํ้า อยู่ในหมู่ของใช้ในการพระราชพิธี ตามราชประเพณีของไทยใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงรับนํ้าอภิเษกหรือใส่นํ้าเทพมนตร์ ซึ่งจะรดถวายให้แก่พระมหากษัตริย์ หรือพระมหากษัตริย์ทรงรดพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าซึ่งมีพระชนนีเป็นเจ้า, บางแห่งเขียนว่า เบญจครรภ.
  9. เบญจคีรีนคร
    หมายถึง น. ชื่อหนึ่งของเมืองราชคฤห์ มีภูเขา ๕ ลูกล้อมรอบ คือ ๑. ภูเขาปัณฑวะ ๒. ภูเขาคิชฌกูฏ ๓. ภูเขาเวภาระ ๔. ภูเขาอิสิคิลิ ๕. ภูเขาเวปุลละ.
  10. เบญจดุริยางค์
    หมายถึง น. ปี่พาทย์เครื่องห้า มี ๒ ชนิด คือ เครื่องอย่างเบาใช้เล่นละครพื้นเมืองชนิดหนึ่งและเครื่องอย่างหนักใช้เล่นโขนชนิดหนึ่ง, อย่างเบามี ปี่ ๑ ทับ ๒ กลอง ๑ ฆ้องคู่ เป็นเครื่องทำจังหวะ ๑, อย่างหนักมี ปี่ ๑ ระนาด ๑ ฆ้องวง ๑ กลอง ๑ โทน (ตะโพน) ๑. (ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์).
  11. เบญจธรรม
    หมายถึง ธรรมะ ๕ ประการ ได้แก่ ๑. เมตตา ๒. ทาน ๓. ความสำรวมในกาม ๔. สัจจะ ๕. สติ คู่กับ เบญจศีล
  12. เบญจธรรม
    หมายถึง หลักธรรม 5 ประการที่ควรปฏิบัติ
  13. เบญจบรรพต
    หมายถึง น. เขา ๕ ยอด คือ เขาหิมาลัย.
  14. เบญจพรรณ
    หมายถึง ว. ๕ สี, ๕ ชนิด; หลายอย่างคละกัน ไม่เป็นสำรับ ไม่เป็นชุด เช่น ของเบญจพรรณ, เรียกต้นไม้ต่าง ๆ ที่ปลูกไว้ในที่แห่งเดียวกันว่า ไม้เบญจพรรณ, เรียกป่าที่มีไม้หลายพรรณคละกันว่า ป่าเบญจพรรณ.
  15. เบญจพล
    หมายถึง น. กำลัง ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา.
  16. เบญจภูต
    หมายถึง น. ธาตุทั้ง ๕ คือ ดิน นํ้า ไฟ ลม อากาศ.
  17. เบญจม,เบญจม-
    หมายถึง [เบนจะมะ-] ว. ครบ ๕, ที่ ๕. (ป. ปญฺจม).
  18. เบญจมสุรทิน
    หมายถึง น. วันที่ ๕ แห่งเดือนสุริยคติ.
  19. เบญจมาศ
    หมายถึง [เบนจะมาด] น. ชื่อไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็กชนิด Dendranthema morifolium (Ramat.) Tzvel. ในวงศ์ Compositae ใบหนา ใต้ใบมีขนละเอียด รูปใบมีแบบต่าง ๆ ดอกเป็นช่อออกตามปลายกิ่ง มีหลายสี บางพันธุ์โต บางพันธุ์เล็ก บางพันธุ์กลีบดอกซ้อนถี่แน่น บางพันธุ์กลีบดอกยาวบิดเป็นเกลียว ใบหรือกลีบเมื่อขยี้ดมมีกลิ่นฉุน เฉพาะพันธุ์ดอกเล็ก สีขาวกลิ่นหอม เรียก เบญจมาศหนู หรือ เก๊กฮวย ดอกตากแห้งชงกับใบชาหรือต้มกับนํ้าตาล ใช้ดื่มแก้กระหาย.
  20. เบญจมาศสวน
    หมายถึง ดู เก๊กฮวย.
  21. เบญจมาศหนู
    หมายถึง ดู เก๊กฮวย.
  22. เบญจรงค์
    หมายถึง น. แม่สีทั้ง ๕ คือ ดำ แดง ขาว เขียว (คราม) เหลือง, เรียกเครื่องถ้วยชามที่เขียนลวดลายด้วยแม่สีทั้ง ๕ ว่า ถ้วยเบญจรงค์ ชามเบญจรงค์.
  23. เบญจวรรค
    หมายถึง น. วรรคทั้ง ๕ ได้แก่ พยัญชนะตั้งแต่ ก ถึง ม คือ กะ วรรค จะ วรรค ฏะ วรรค ตะ วรรค ปะ วรรค, พวก ๕.
  24. เบญจวรรณ
    หมายถึง ว. ๕ สี, ๕ ชนิด. น. นกแก้วขนาดโตมีหลายสี.
  25. เบญจวรรณห้าสี
    หมายถึง น. ชื่อกลบทอย่างหนึ่ง.
  26. เบญจศก
    หมายถึง น. เรียกปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข ๕ เช่น ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๓๔๕.
  27. เบญจศีล
    หมายถึง ศีล ๕ ได้แก่ ๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์ ๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๔. งดเว้นจากการพูดเท็จ ๕. งดเว้นจากการเสพสุราเมรัย คู่กับ เบญจธรรม
  28. เบญจา
    หมายถึง น. แท่นมีเพดานดาดและระบายผ้าขาว, แท่นซ้อน ๕ ชั้นลดหลั่นกัน มักใช้ประดิษฐานบุษบกหรือพระโกศ. (เพี้ยนมาจาก มัญจา คือ เตียง).
  29. เบญจางค,เบญจางค-,เบญจางค์
    หมายถึง [เบนจางคะ-, เบนจาง] น. อวัยวะทั้ง ๕ คือ หน้าผาก ๑ มือ ๒ เข่า ๒; ส่วนทั้ง ๕ คือ ราก เปลือก ใบ ดอก ผล.
  30. เบญจางคประดิษฐ์
    หมายถึง น. การกราบโดยให้อวัยวะทั้ง ๕ คือ เข่าทั้ง ๒ มือทั้ง ๒ และหน้าผาก จดลงกับพื้น.
  31. เบญจเพส
    หมายถึง ว. ยี่สิบห้า เช่น อายุถึงเบญจเพส. (ป. ปญฺจวีส).
  32. เบญจโครส
    หมายถึง [-โค-รด] น. นมโค ๕ อย่าง คือ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น เปรียง. (ป.).
  33. เบญจโลหกะ
    หมายถึง น. แร่ทั้ง ๕ คือ ทองคำ เงิน ทองแดง ตะกั่ว ดีบุก.
  34. เบญจโลหะ
    หมายถึง น. โลหะ ๕ ชนิด คือ เหล็ก ๑ ปรอท ๑ ทองแดง ๑ เงิน ๑ และทองคำ ๑, ถ้าเติมอีก ๒ ชนิด คือ เจ้า ๑ (เป็นคำตัดมาจาก “เจ้าน้ำเงิน” ว่าเป็นแร่ชนิดหนึ่งสีเขียวเป็นสีน้ำเงิน) และสังกะสี ๑ เรียกว่า สัตโลหะ, ถ้าเติมอีก ๒ ชนิด คือ ชิน ๑ และบริสุทธิ์ ๑ (คือ ทองแดงบริสุทธิ์) เรียกว่า นวโลหะ. (ตำราสร้างพระพุทธรูป).
  35. เบญญา
    หมายถึง น. ปัญญา.
  36. เบญพาด
    หมายถึง [เบนยะ-] น. ตัวไม้ที่คุมกันเข้าเป็นเครื่องคํ้ายันเสาตะลุงให้มั่นคง.
  37. เบน
    หมายถึง ก. เหหรือทำให้เหไปข้างใดข้างหนึ่ง เช่น หัวเรือเบน เบนหัวเรือ เบนความคิด เบนความสนใจ.
  38. เบนซิน
    หมายถึง น. นํ้ามันเชื้อเพลิงชนิดหนึ่ง ซึ่งนำไปใช้โดยทำให้ไอของนํ้ามันผสมกับอากาศเข้าไปจุดระเบิดด้วยประกายไฟฟ้าจากหัวเทียนในเครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ภายใน.
  39. เบรก
    หมายถึง [เบฺรก] น. เครื่องห้ามล้อ. ก. ห้ามล้อ. (อ. brake).
  40. เบริลเลียม
    หมายถึง น. ธาตุลำดับที่ ๔ สัญลักษณ์ Be เป็นโลหะ ลักษณะเป็นของแข็งสีขาว หลอมละลายที่ ๑๒๗๗ °ซ. ใช้ประโยชน์นำไปผสมกับโลหะอื่นให้เป็นโลหะเจือ ซึ่งทนทานต่อการผุกร่อน. (อ. beryllium).
  41. เบรียน
    หมายถึง [บะเรียน] (โบ) ก. ให้เรียน, สอน, เช่น อาจเบรียนภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย. (จารึกสยาม).
  42. เบส
    หมายถึง (เคมี) น. สารเคมีซึ่งทำปฏิกิริยากับกรด แล้วให้ผลเป็นเกลือหรือเกลือกับนํ้าเท่านั้น, สารเคมีที่มีสมบัติรับโปรตอนมาจากสารอื่นได้, สารเคมีที่มีสมบัติจ่ายอิเล็กตรอนคู่หนึ่งให้แก่สารอื่นได้, สารเคมีซึ่งเมื่อละลายนํ้าแล้วให้ไฮดรอกไซด์ไอออน (OH-), สารละลายที่เปลี่ยนสีลิตมัสสีแดงเป็นสีนํ้าเงินได้. (อ. base).
  43. เบอร์
    หมายถึง (ปาก) น. หมายเลขลำดับ. (ตัดมาจาก number).
  44. เบอร์คีเลียม
    หมายถึง น. ธาตุลำดับที่ ๙๗ สัญลักษณ์ Bk เป็นธาตุกัมมันตรังสีที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น ไม่มีปรากฏในธรรมชาติ. (อ. berkelium).
  45. เบอะ
    หมายถึง ว. ซึมเซ่อ เช่น หน้าเบอะ.
  46. เบอะ
    หมายถึง ว. เป็นแผลเหวอะหวะเข้าไป เช่น แผลเบอะ, ใช้ประกอบคำ หนา เป็น หนาเบอะ เช่น ปากหนาเบอะ หมายความว่า ปากหนามาก, ใช้ประกอบคำ เหลือ เป็น เหลือเบอะ คือ เหลือมาก.
  47. เบอะบะ
    หมายถึง ว. ซึมเซ่อ เช่น หน้าตาเบอะบะ; อ้วนใหญ่เทอะทะไม่ได้ส่วน เช่น รูปร่างเบอะบะ.
  48. เบะ
    หมายถึง ว. ทำหน้าเหมือนจะร้องไห้; มักใช้ประกอบคำ เหลือ เป็น เหลือเบะ คือ เหลือมาก เช่นในกรณีที่เตรียมของไว้มาก แต่คนมาน้อย.
  49. เบา
    หมายถึง ว. มีน้ำหนักน้อย, ตรงข้ามกับ หนัก; ย่อมเยา เช่น เบาราคา; ค่อย, ค่อย ๆ, เช่น เสียงเบา เดินเบา ๆ, ทุเลา เช่น ไข้เบาลง, ชะลอกำลังเร็วให้ช้าลง เช่น เบารถ เบาฝีจักร; ที่ให้ผลเร็ว เช่น ข้าวเบา. (ปาก) น. เยี่ยว. ก. ถ่ายปัสสาวะ, เยี่ยว.
  50. เบาความ
    หมายถึง ว. ไม่พินิจพิเคราะห์ในข้อความให้ถี่ถ้วน, หย่อนความคิด, เชื่อง่ายโดยมิได้ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน.
  51. เบาตัว,เบาเนื้อเบาตัว
    หมายถึง ว. กระปรี้กระเปร่า, โล่งใจหายอึดอัด.
  52. เบาบาง
    หมายถึง ว. น้อยลง เช่น ผลไม้เบาบางลง, ทุเลาลง, บางเบา ก็ว่า.
  53. เบาปัญญา
    หมายถึง ว. หย่อนความคิด, หย่อนสติปัญญา.
  54. เบามือ,เบาไม้เบามือ
    หมายถึง ก. ทำเบา ๆ หรือค่อย ๆ ด้วยความระมัดระวัง, ทำไม่ให้หนักมือหรือรุนแรง; ช่วยให้ไม่ต้องทำงานมาก. ว. ที่ออกแรงน้อยในการจับถือหรือยกเป็นต้น เช่น ไม้เท้าเบามือ กระเป๋าเบามือ.
  55. เบาราณ
    หมายถึง (แบบ) ว. โบราณ. (ส. เปาราณ; ป. ปุราณ, โปราณ).
  56. เบาสมอง
    หมายถึง ว. ที่ทำให้สมองปลอดโปร่ง, ที่ไม่ต้องคิดมาก.
  57. เบาหวาน
    หมายถึง น. ชื่อโรคชนิดหนึ่งมีระดับนํ้าตาลในเลือดสูงกว่าปรกติ.
  58. เบาะ
    หมายถึง น. เครื่องรองรับซึ่งมีลักษณะนุ่ม เช่น เบาะยัดนุ่น เบาะรองนั่ง เบาะสำหรับเด็กนอน.
  59. เบาะ
    หมายถึง น. ที่มา.
  60. เบาะ ๆ
    หมายถึง ว. อาการที่ตี ฟัน หรือทุบเป็นต้นแต่เบา ๆ เช่น ตีเบาะ ๆ.
  61. เบาะลม
    หมายถึง น. อากาศที่ถูกอัดอยู่ภายใต้พื้นล่างของยานพาหนะ ทำหน้าที่เสมือนเป็นเบาะพยุงให้ตัวยานพาหนะลอยอยู่เหนือพื้นได้ตลอดเวลาที่เคลื่อนที่ไป ระยะที่ลอยอยู่เหนือพื้นอาจสูงได้ถึง ๑๐ ฟุต.
  62. เบาะแส
    หมายถึง น. ลู่ทาง, ร่องรอย, ลาดเลา, เค้าเงื่อน, ตำแหน่งแห่งที่ซึ่งทราบมาอย่างเลา ๆ พอเป็นรูปเค้า.
  63. เบาเต็ง
    หมายถึง ว. จวนบ้า, ไม่เต็มเต็ง, ไม่เต็มบาท.
  64. เบาเหวง,เบาโหวง
    หมายถึง [-เหฺวง, -โหฺวง] ว. เบาจนเกือบไม่มีนํ้าหนัก.
  65. เบาแรง
    หมายถึง ว. ผ่อนหรือช่วยให้ใช้แรงหรือกำลังน้อยลง.
  66. เบาใจ
    หมายถึง ว. ไม่หนักใจ, โล่งใจ.
  67. เบาไม้
    หมายถึง ว. ว่านอนสอนง่าย ไม่ค่อยถูกเฆี่ยนถูกตีนัก (ใช้แก่เด็ก).
  68. เบิก
    หมายถึง น. คำกำกับชื่อปีในวิธีนับศักราชของไทยทางเหนือ ตรงกับเลข ๕, เขียนเป็น เปก ก็มี.
  69. เบิก
    หมายถึง ก. เปิด ใช้ในลักษณะอย่างเปิดผ้าคลุมบายศรีออก เรียกว่า เบิกบายศรี, ทำให้กว้าง เช่น เบิกถนนออกไป เบิกท้องร่อง; ขอให้จ่าย เช่น เบิกเงิน เบิกของ; นำเข้าเฝ้า เช่น เบิกตัว.
  70. เบิกความ
    หมายถึง (กฎ) ก. ให้ถ้อยคำต่อศาลในฐานะพยาน.
  71. เบิกทาง
    หมายถึง น. เรียกหนังสืออนุญาตให้โดยสารหรือให้ผ่านว่า หนังสือเบิกทาง หรือ ใบเบิกทาง.
  72. เบิกทูต
    หมายถึง ก. นำทูตเข้าเฝ้า.
  73. เบิกบาน
    หมายถึง ว. แช่มชื่น, สดใส.
  74. เบิกพยาน
    หมายถึง (กฎ) ก. นำพยานมาให้ถ้อยคำต่อศาล.
  75. เบิกพระเนตร
    หมายถึง ก. เปิดตา, เป็นคำใช้สำหรับพิธีฝังหรือเขียนพระเนตรพระพุทธรูป ซึ่งถือว่าเมื่อได้เบิกพระเนตรแล้วจึงเป็นองค์พระโดยสมบูรณ์.
  76. เบิกพระโอษฐ์
    หมายถึง (ราชา) น. พิธีป้อนนํ้าโดยใช้ช้อนทองคำตักน้ำพระมหาสังข์ใส่พระโอษฐ์พระราชกุมารหรือพระราชกุมารีเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีสมโภช ๓ วัน.
  77. เบิกอรุณ
    หมายถึง (แบบ) ว. เช้าตรู่, เริ่มเห็นแสงเงินแสงทอง, (ใช้แก่เวลา).
  78. เบิกเรือ
    หมายถึง ก. ถ่างเรือที่ขุดเป็นรูปร่างแล้วให้ปากผายออกโดยวิธีสุมไฟให้ร้อน.
  79. เบิกแว่นเวียนเทียน
    หมายถึง ก. เริ่มทำพิธีจุดเทียนที่ติดบนแว่นเวียนเทียนแล้วส่งกันต่อ ๆ ไปโดยรอบในการทำขวัญ.
  80. เบิกโรง
    หมายถึง ก. แสดงก่อนดำเนินเรื่อง, แสดงออกโรงครั้งแรก.
  81. เบิกโลง
    หมายถึง ก. ทำพิธีก่อนนำศพลงโลง.
  82. เบิกไพร
    หมายถึง ก. ทำพิธีก่อนจะเข้าป่า.
  83. เบิกไม้
    หมายถึง น. พิธีเซ่นผีป่าหรือรุกขเทวดาก่อนจะตัดไม้ใหญ่ในป่าสูง.
  84. เบิ่ง
    หมายถึง ก. จ้องดู, แหงนหน้าดู, เช่น ควายเบิ่ง.
  85. เบียก
    หมายถึง ก. แบ่ง, ปัน.
  86. เบียกบ้าย
    หมายถึง ก. เฉลี่ยมาแห่งละเล็กละน้อย, เบียดแว้ง ก็ใช้.
  87. เบียด
    หมายถึง ก. แทรกหรือเสียด เช่น เบียดเข้าไป, ชิดกันติดกันเกินไปในที่จำกัด เช่น ต้นไม้ขึ้นเบียดกัน ยืนเบียดกัน.
  88. เบียดกรอ
    หมายถึง [-กฺรอ] ว. ฝืดเคือง, กระเบียดกระเสียร, เช่น ใช้จ่ายอย่างเบียดกรอ.
  89. เบียดบัง
    หมายถึง ก. ยักเอาไว้เป็นประโยชน์ของตัว.
  90. เบียดเบียน
    หมายถึง ก. ทำให้เดือดร้อน เช่น เบียดเบียนสัตว์ โรคภัยเบียดเบียน เบียดเบียนเพื่อนให้สิ้นเปลือง.
  91. เบียดเสียด
    หมายถึง ก. ยัดเยียด, เบียดกันแน่น.
  92. เบียดแว้ง
    หมายถึง ก. เฉลี่ยมาแห่งละเล็กละน้อย, เบียกบ้าย ก็ใช้.
  93. เบียน
    หมายถึง ก. รบกวน, ทำให้เดือดร้อน, มักใช้เข้าคู่กับคำ เบียด เป็น เบียดเบียน; (โหร) เปลี่ยนแปลง เช่น ดาวพระศุกร์ถูกราหูเบียน. น. เรียกสัตว์หรือพืชที่อาศัยอยู่ภายนอกหรือภายในสัตว์หรือพืชอื่นโดยแย่งกินอาหารว่า ตัวเบียน.
  94. เบียนธาตุ
    หมายถึง ก. ทำให้ความหมายของธาตุผิดไปจากเดิม เช่น คม = ไป - อาคม = มา.
  95. เบียร์
    หมายถึง น. นํ้าเมาอย่างหนึ่งเป็นชนิดเมรัย. (อ. beer).
  96. เบี่ยง
    หมายถึง ก. เลี่ยง, เบน, เอี้ยว, เช่น เบี่ยงตัว. ว. ที่เลี่ยง, ที่เบน, เช่น ทางเบี่ยง สะพานเบี่ยง.
  97. เบี่ยงบ่าย
    หมายถึง ก. เลี่ยงพอให้พ้นไป, บ่ายเบี่ยง ก็ว่า.
  98. เบี้ย
    หมายถึง น. ชื่อหอยทะเลกาบเดี่ยวหลายชนิดในสกุล Cypraea วงศ์ Cypraeidae เปลือกแข็ง ผิวเป็นมัน หลังนูน ท้องแบน ช่องปากยาวแคบและไปสุดตอนปลายทั้ง ๒ ข้าง เป็นลำราง ริมปากทั้ง ๒ ด้านหยักหรือมีฟัน ไม่มีแผ่นปิด เรียกรวม ๆ ว่า หอยเบี้ย, เปลือกหอยเบี้ยชนิดที่คนโบราณใช้เป็นวัตถุกลางสำหรับซื้อขายสิ่งของ เรียกว่า เบี้ย เช่น เบี้ยจั่น หรือ เบี้ยจักจั่น ก็คือ เปลือกของหอยเบี้ยชนิด C. moneta เบี้ยแก้ว หรือ เบี้ยนาง คือ เปลือกของหอยเบี้ยชนิด C. annulus มีอัตรา ๑๐๐ เบี้ย เป็น ๑ อัฐ (เท่ากับสตางค์ครึ่ง) จึงเรียกคำว่า เบี้ย เป็นเงินติดมาจนทุกวันนี้ เช่น เบี้ยประชุม เบี้ยประกัน เบี้ยเลี้ยงชีพ.
  99. เบี้ย
    หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Portulaca oleracea L. ในวงศ์ Portulacaceae ใช้เป็นผักได้, ผักเบี้ย หรือ ผักเบี้ยใหญ่ ก็เรียก.
  100. เบี้ยกันดาร
    หมายถึง (กฎ) น. เงินที่จ่ายช่วยเหลือข้าราชการและลูกจ้างประจำเนื่องจากการปฏิบัติราชการประจำในท้องที่กันดารหรือในโรงเรียนที่กันดาร.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด บ (หน้าที่ 10)"