พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ต (หน้าที่ 8)

  1. ตันตระ
    หมายถึง [-ตฺระ] น. ลัทธิฮินดูยุคหลัง ว่าด้วยพิธีกรรมเพื่อบูชาพระศิวะและศักติของพระองค์; ชื่อคัมภีร์หนึ่งในลัทธิตันตระ.
  2. ตันติ
    หมายถึง (แบบ) น. แบบแผน; เชือก, เส้นด้าย, สายเชือก. (ป., ส.).
  3. ตันติภาษา
    หมายถึง น. ภาษาที่มีแบบแผน. (ส.; ป. ตนฺติภาสา).
  4. ตันปัญญา
    หมายถึง ก. จนปัญญา, คิดอะไรไม่ออก.
  5. ตันหยง
    หมายถึง น. (๑) ดอกพิกุล. (จินดามณี). (๒) ชื่อไม้ต้นขนาดเล็กชนิด Caesalpinia coriaria (Jacq.) Willd. ในวงศ์ Leguminosae ดอกเล็ก สีขาว กลิ่นหอม.
  6. ตันอกตันใจ
    หมายถึง ก. อึดอัดใจ, ตัดสินใจไม่ถูก.
  7. ตันเหิม
    หมายถึง (โบ; กลอน) ก. รื่นเริง, บันเทิงใจ.
  8. ตับ
    หมายถึง น. อวัยวะประเภทต่อมของระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้อง ทำหน้าที่ทำลายพิษ สร้างนํ้าดีและโปรตีนบางชนิด เป็นต้น.
  9. ตับ
    หมายถึง น. ไม้สำหรับหนีบปลาหรือไก่เป็นต้นปิ้งไฟ; เรียกของที่ผูก ตั้ง หรือวางเรียงกันเป็นแถว เช่น ตับจาก ตับพลุ ตับลูกปืน; ลักษณนามเรียกของที่เรียงกันเป็นแถว เช่น ปลาย่างตับหนึ่ง ปลาย่าง ๒ ตับ.
  10. ตับปิ้ง
    หมายถึง น. เครื่องปิดของลับของเด็กหญิง ทำด้วยเงิน ทอง หรือนาก เป็นต้น, กระจับปิ้ง จะปิ้ง จับปิ้ง หรือ ตะปิ้ง ก็เรียก.
  11. ตับอ่อน
    หมายถึง น. อวัยวะประเภทต่อมของระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้อง ทำหน้าที่สร้างและขับนํ้าย่อยอาหาร สร้างฮอร์โมน เช่น อินซูลิน.
  12. ตับเต่า
    หมายถึง น. (๑) ชื่อไม้นํ้าชนิด Mimulus orbicularis Benth. ในวงศ์ Scrophulariaceae ใบกลม ดอกสีม่วงอ่อน ใบใช้เป็นผัก, ผักอีแปะ ก็เรียก. (๒) ชื่อไม้นํ้าชนิด Hydrocharis dubia (Blume) Backer ในวงศ์ Hydrocharitaceae ลำต้นกลม ดอกสีขาว ใบกินได้. (๓) ชื่อเห็ดหลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Boletaceae ขึ้นตามพื้นดินใต้พุ่มไม้ยืนต้นหลายชนิด ดอกเห็ดใหญ่ สีนํ้าตาลเข้ม ด้านล่างมีรูสีเหลืองอมเขียวหม่นไปจนถึงสีนํ้าตาลอมเขียวหม่น โคนก้านใหญ่ กินได้.
  13. ตับเต่าขาว
    หมายถึง น. เห็ดตับเต่าขาว. [ดู จั่น ๕ (๒)].
  14. ตับเป็ด
    หมายถึง น. ชื่อหินชนิดหนึ่งสีดำ เนื้อแข็ง, เรียกสีดำเจือแดงว่า สีตับเป็ด หรือ ดำตับเป็ด.
  15. ตับเป็ด
    หมายถึง น. ชื่อมะม่วงพันธุ์หนึ่งของชนิด Mangifera indica L. ผลค่อนข้างแบน เนื้อแน่น.
  16. ตับเพลง
    หมายถึง น. เพลงที่นำมารวมขับร้องและบรรเลงติดต่อกัน ซึ่งเป็นเพลงที่อยู่ในอัตราเดียวกัน ชุดหนึ่งบรรเลงประมาณ ๓-๑๐ เพลง เช่น ตับลาวเจริญศรี.
  17. ตับเรื่อง
    หมายถึง น. เพลงที่นำมารวมขับร้องและบรรเลงติดต่อกัน มีบทร้องที่เป็นเรื่องเดียวกันและดำเนินไปโดยลำดับ แต่อาจเป็นทำนองเพลงคนละอัตราก็ได้ เช่น ตับนางลอย ตับนาคบาศ.
  18. ตับเหล็ก
    หมายถึง น. ม้ามของหมู.
  19. ตับแข็ง
    หมายถึง น. ชื่อโรคเรื้อรังที่เกิดแก่ตับ ทำให้เนื้อเยื่อของตับหดตัวและมีจำนวนน้อยลง ส่วนเนื้อเยื่อยึดต่อมีจำนวนมากขึ้นผิดปรกติ มักทำให้เกิดอาการบวมที่ท้อง ตาเหลือง ซึม หมดสติ และอาเจียนเป็นโลหิต.
  20. ตับแลบ
    หมายถึง (ปาก) ว. มีอาการเหนื่อยมาก เช่น วิ่งเสียจนตับแลบ.
  21. ตัว
    หมายถึง น. รูป, ตน, ตนเอง, คำใช้เรียกแทนคน สัตว์ และสิ่งของบางอย่าง เช่น ตัวละคร ตัวหนังสือ; ลักษณนามใช้เรียกสัตว์และสิ่งของบางอย่าง เช่น ม้า ๕ ตัว ตะปู ๓ ตัว เสื้อ ๒ ตัว; ใช้เรียกผู้ที่ตนพูดด้วยในฐานะคนเสมอกันที่สนิทกัน เช่น ตัวจะไปไหม.
  22. ตัว
    หมายถึง (คณิต) น. เรียกเลขในวิธีทำว่า ตัว เช่น ตัวบวก ตัวลบ ตัวคูณ ตัวหาร.
  23. ตัวกลั่น
    หมายถึง น. ผู้ที่เลือกสรรแล้ว.
  24. ตัวกลาง
    หมายถึง (วิทยา) น. สิ่งที่แสงหรือเสียงหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต้องเคลื่อนที่ผ่าน.
  25. ตัวการ
    หมายถึง น. ผู้ก่อเหตุ; (กฎ) ตามกฎหมายอาญา ตัวการหมายความถึงบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ซึ่งร่วมกระทำความผิดด้วยกัน; ตามกฎหมายแพ่ง ตัวการหมายความถึงบุคคลซึ่งมอบอำนาจโดยตรงหรือโดยปริยายให้บุคคลอีกคนหนึ่งทำการแทนตน.
  26. ตัวคูณร่วมน้อย
    หมายถึง น. จำนวนเต็มบวกที่มีค่าน้อยที่สุดซึ่งนำไปหารด้วยจำนวนเต็มบวกอื่น ๆ ตั้งแต่ ๒ จำนวนขึ้นไป แล้วจะได้ผลลัพธ์ลงตัวพอดี เช่น ๗๐ เป็นตัวคูณร่วมน้อยของ ๑๔ และ ๓๕, ใช้อักษรย่อว่า ค.ร.น.
  27. ตัวจักรใหญ่
    หมายถึง (สำ) น. บุคคลซึ่งเป็นสมองหรือเป็นหัวหน้าในการดำเนินกิจการ.
  28. ตัวจำนำ
    หมายถึง น. ตัวแทนที่ให้อยู่เป็นประกันในความซื่อตรงมั่นคงของผู้เป็นหัวหน้าหรือประมุข.
  29. ตัวจี๊ด
    หมายถึง น. ชื่อพยาธิชนิด Gnathostoma spinigerum ในวงศ์ Gnathostomatidae ลำตัวสีแดง ยาว ๑๐-๕๐ มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยพบในกระเพาะของสุนัข แมว และเสือ ตัวอ่อนพบในปลา ไก่ กบ หรือสัตว์เลื้อยคลาน ติดต่อถึงคนได้เมื่อกินสัตว์เหล่านี้ที่ยังดิบซึ่งมีตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้อยู่ ตัวอ่อนเมื่ออยู่ในคนสามารถเคลื่อนตัวไปตามเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ได้อาจเป็นตุ่มนูนขึ้นมาตามผิวหนังและปวดบวม, หนอนด้น ก็เรียก.
  30. ตัวดี
    หมายถึง น. ตัวสำคัญ, ตัวต้นเหตุ, (มักใช้ในเชิงประชด).
  31. ตัวตั้ง
    หมายถึง (ปาก) น. คำตั้ง.
  32. ตัวตั้ง
    หมายถึง น. จำนวนเลขที่ตั้งไว้ก่อนสำหรับบวกลบคูณหาร.
  33. ตัวตั้งตัวตี
    หมายถึง น. ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ, ผู้ที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้าในการทำงานอย่างออกหน้าออกตา.
  34. ตัวตายตัวแทน
    หมายถึง (สำ) น. ผู้ที่รับช่วงทำงานติดต่อกันไปไม่ขาดตอน.
  35. ตัวตืด
    หมายถึง น. ชื่อพยาธิในชั้น Cestoda ตัวแบนเป็นปล้องเรียงต่อกันเป็นแถบยาว หัวมีอวัยวะใช้เกาะยึด ถัดจากหัวเป็นคอซึ่งเป็นส่วนที่สร้างปล้องออกมาเรื่อย ๆ บางชนิดมีเพียง ๒-๓ ปล้อง บางชนิดมีถึง ๑,๐๐๐ ปล้อง ปล้องท้ายสุดเกิดก่อน ปล้องถัดจากคอเกิดหลังสุด แต่ละปล้องมีอวัยวะทั้งเพศผู้และเพศเมียรวมอยู่ด้วยกัน มักอาศัยดูดอาหารในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์มีกระดูกสันหลัง ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง ถ้ามีจำนวนมากจะไปกั้นทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีหลายชนิดและหลายวงศ์ เช่น ชนิด Taenia solium ซึ่งตัวอ่อน เรียก เม็ดสาคู อยู่ในเนื้อหมู ชนิด T. saginata ซึ่งตัวอ่อนอยู่ในเนื้อวัว, ทั้ง ๒ ชนิดอยู่ในวงศ์ Taeniidae และเป็นพยาธิในลำไส้เล็กของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด.
  36. ตัวต่อตัว
    หมายถึง น. หนึ่งต่อหนึ่ง (มักใช้ในการต่อสู้).
  37. ตัวถัง
    หมายถึง น. ส่วนของรถยนต์ที่ใช้รับน้ำหนักบรรทุก มี ๒ ประเภท คือ ตัวถังแบบมีโครงแชสซี และตัวถังแบบไม่มีโครงแชสซี.
  38. ตัวนาง
    หมายถึง น. ผู้แสดงละครรำหรือระบำ เข้าเครื่องละครรำ ใช้ลีลาท่ารำแบบหญิง, นางเอกในเรื่องลิเก ละคร.
  39. ตัวนำ
    หมายถึง (ฟิสิกส์) น. สารที่กระแสไฟฟ้าหรือความร้อนผ่านไปได้ง่าย.
  40. ตัวประกอบ
    หมายถึง น. จำนวนที่เมื่อคูณกันแล้วทำให้เกิดอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ๒ x ๓ = ๖ ๒ และ ๓ ต่างเป็นตัวประกอบของ ๖.
  41. ตัวประกอบ
    หมายถึง น. ผู้แสดงบทบาทไม่สำคัญในภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น เพียงประกอบบทบาทของตัวเอกเท่านั้น.
  42. ตัวประกัน
    หมายถึง น. บุคคลที่ถูกยึดหน่วงตัวไว้เพื่อใช้ต่อรอง.
  43. ตัวปลิง
    หมายถึง น. เหล็กที่ทำเป็นหมุดแหลมโค้งสำหรับตอกเพลาะกระดานยึดให้แน่นสนิท, เขี้ยวตะขาบ ตะปลิง หรือ ปลิง ก็เรียก.
  44. ตัวผู้
    หมายถึง น. เพศผู้ (ใช้เฉพาะสัตว์และพืชบางชนิด) เช่น แมวตัวผู้; เรียกสิ่งของบางอย่างที่มีรูปแหลมยาว เช่น เกลือตัวผู้, เรียกสิ่งที่มีเดือยสำหรับสอด เช่น กระเบื้องตัวผู้ นอตตัวผู้, เรียกต้นไม้ที่ไม่มีผลตลอดไป เช่น มะละกอตัวผู้.
  45. ตัวพระ
    หมายถึง น. ผู้แสดงละครรำหรือระบำ เข้าเครื่องละครรำ ใช้ลีลาท่ารำแบบชาย, พระเอกในเรื่องลิเก ละคร.
  46. ตัวพิมพ์
    หมายถึง น. ตัวอักษรที่หล่อด้วยตะกั่วใช้เรียงพิมพ์ มีหลายชนิด เช่น ตัวโป้ง ตัวฝรั่งเศส; เรียกตัวพิมพ์ใหญ่ในภาษาอังกฤษ.
  47. ตัวยืน
    หมายถึง น. ผู้ที่ถูกกำหนดให้เป็นตัวหลัก สำหรับให้คนอื่นมาเป็นคู่ชิงตำแหน่ง (ใช้แก่กีฬา); ผู้ที่เป็นหลักในการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตัวยืนโรง หรือ ตัวยืนพื้น ก็ว่า.
  48. ตัวร้อน
    หมายถึง น. อาการของร่างกายที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปรกติ.
  49. ตัวละคร
    หมายถึง (วรรณ) น. ผู้มีบทบาทในวรรณกรรมประเภทละคร นวนิยาย เรื่องสั้น และเรื่องแต่งประเภทต่าง ๆ.
  50. ตัวสะกด
    หมายถึง น. พยัญชนะท้ายคำหรือพยางค์ที่ทำหน้าที่บังคับเสียงให้เป็นไปตามมาตราต่าง ๆ เช่น น เป็นตัวสะกดในมาตรากน.
  51. ตัวสำคัญ
    หมายถึง (ปาก) น. ตัวร้าย เช่น เด็กคนนี้แหละตัวสำคัญนัก ชอบรังแกเพื่อน.
  52. ตัวหนังสือ
    หมายถึง น. สัญลักษณ์แทนเสียงหรือคำพูด.
  53. ตัวหารร่วมมาก
    หมายถึง น. จำนวนเต็มบวกที่มีค่ามากที่สุดซึ่งนำไปหารจำนวนเต็มบวกอื่น ๆ ตั้งแต่ ๒ จำนวนขึ้นไปได้ลงตัวพอดี เช่น ๗ เป็นตัวหารร่วมมากของ ๑๔ และ ๓๕, ใช้อักษรย่อว่า ห.ร.ม.
  54. ตัวอย่าง
    หมายถึง น. สิ่งที่นำมาอ้างเพื่อแสดงให้เห็นลักษณะที่เป็นส่วนรวมทั้งหมด เช่น ยกตัวอย่าง. ว. ที่แสดงแบบอย่างหรือคุณภาพเป็นต้นแทนส่วนทั้งหมดของสิ่งนั้น ๆ เช่น ของตัวอย่าง, ที่ทำให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น ครูตัวอย่าง นาตัวอย่าง.
  55. ตัวเก็ง
    หมายถึง น. ผู้ ตัว หรือสิ่งที่คาดหมายไว้อย่างมั่นใจ.
  56. ตัวเงิน
    หมายถึง น. เงินสด.
  57. ตัวเงินตัวทอง
    หมายถึง (ปาก) น. เหี้ย.
  58. ตัวเชิด
    หมายถึง น. ผู้ที่ถูกใช้ให้ออกหน้าแทน.
  59. ตัวเต็ง
    หมายถึง น. ตัวที่มีนํ้าหนักในการคาดหมายว่าจะชนะมากกว่าตัวอื่น ๆ.
  60. ตัวเปล่า
    หมายถึง ว. ยังไม่มีครอบครัว เช่น ฉันยังตัวเปล่าอยู่, ตัวเปล่าเล่าเปลือย ก็ว่า, ลำพังตัวไม่ได้มีอะไรมาด้วย เช่น มาตัวเปล่า เดินตัวเปล่า.
  61. ตัวเปล่าเล่าเปลือย
    หมายถึง ว. ยังไม่มีครอบครัว เช่น เธอไม่ใช่คนตัวเปล่าเล่าเปลือยนะ, ตัวเปล่า ก็ว่า, ไร้ญาติขาดมิตร เช่น เขาเป็นคนตัวเปล่าเล่าเปลือย.
  62. ตัวเป็นเกลียว
    หมายถึง (สำ) ว. อาการที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งมากจนไม่มีเวลาได้พักผ่อน; แสดงกิริยาท่าทางด้วยความรู้สึกรุนแรง เช่น ครั้นได้ข่าวผัวตัวเป็นเกลียว. (ไกรทอง).
  63. ตัวเมีย
    หมายถึง น. เพศเมีย (ใช้เฉพาะสัตว์และพืชบางชนิด) เช่น แมวตัวเมีย; เรียกสิ่งของบางอย่างที่มีรูหรือขอรับให้สิ่งอื่นเกาะหรือสอดเข้าได้ เช่น กระเบื้องตัวเมีย นอตตัวเมีย.
  64. ตัวเมือง
    หมายถึง น. ย่านใจกลางเมือง มักมีแม่นํ้าหรือกำแพงล้อมรอบ.
  65. ตัวเลข
    หมายถึง น. สัญลักษณ์ที่ใช้แทนจำนวนจริง เช่น ๑๒ 53 VIII. (อ. numeral).
  66. ตัวเอก
    หมายถึง น. ผู้ที่มีบทบาทเด่นในเรื่องลิเก ละคร เป็นต้น.
  67. ตัวเอ้
    หมายถึง น. หัวโจก.
  68. ตัวแทน
    หมายถึง (กฎ) น. บุคคลผู้มีอำนาจทำการแทนบุคคลอื่น; ชื่อสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ตัวการ และตัวแทนตกลงจะทำการนั้น.
  69. ตัวแทนค้าต่าง
    หมายถึง (กฎ) น. บุคคลซึ่งในทางค้าขาย ทำการซื้อ หรือขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทำกิจการค้าอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ.
  70. ตัวแทนช่วง
    หมายถึง (กฎ) น. บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งจากตัวแทนอีกต่อหนึ่งให้กระทำการแทนตัวการ.
  71. ตัวแทนเชิด
    หมายถึง (กฎ) น. ตัวแทนที่ไม่ได้รับแต่งตั้งจากตัวการโดยตรง แต่ถูกตัวการเชิดให้เป็นตัวแทนของตน หรือตัวการรู้แล้วยอมให้ตัวแทนเชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทน.
  72. ตัวแปร
    หมายถึง น. จำนวนจริงหรือจำนวนเชิงซ้อนที่มีค่าได้หลาย ๆ ค่าในช่วงหรือเซตที่กำหนดให้. (อ. variable).
  73. ตัวโค
    หมายถึง น. ชื่อหนึ่งของดาวฤกษ์อารทรา มี ๑ ดวง, ดาวตาสำเภา ดาวอทระ หรือ ดาวอัททา ก็เรียก.
  74. ตัวใครตัวมัน
    หมายถึง ว. ต่างคนต่างเอาตัวรอดแต่ลำพัง.
  75. ตัวไม้
    หมายถึง น. ไม้ที่แต่งไว้เพื่อคุมกันเข้าเป็นเรือนเป็นต้น.
  76. ตั่ง
    หมายถึง น. ที่สำหรับนั่ง ไม่มีพนัก อาจมีขาหรือไม่มีขาก็ได้.
  77. ตั้ง
    หมายถึง ก. ชูตัว, ชูตัวหรือทำให้ทรงตัวในลักษณะที่ไม่ใช่นอนหรือล้ม, เช่น ขนตั้งชัน ต้นข้าวเอนแล้วกลับตั้งขึ้น ตั้งขวด ตั้งตุ๊กตา; ทรง, ดำรง, เช่น ตั้งอยู่ในคลองธรรม ตั้งอยู่ในศีลในธรรม; ทำให้มีขึ้น, สร้างให้มีขึ้น, เช่น ตั้งตำแหน่งใหม่ ตั้งบ้านตั้งเรือน; ยกฐานะให้สูงขึ้น เช่น ตั้งพระราชาคณะ ตั้งเปรียญ; กำหนด เช่น ตั้งราคา; วาง เช่น ตั้งสำรับ; วางซ้อนกันมาก ๆ เช่น ตั้งหนังสือเป็นกองสูง; เริ่ม, เริ่มมี, เช่น ตั้งครรภ์ ตั้งเค้า ตั้งท้อง. บ. คำแสดงความหมายว่า มาก หรือ นาน เช่น เสียตั้งชั่ง ไปตั้งปี. น. ลักษณนามเรียกของที่วางซ้อนกันมาก ๆ เช่น หนังสือตั้งหนึ่ง หนังสือ ๒ ตั้ง, ครั้ง เช่น มาลองกันดูสักตั้ง.
  78. ตั้งกรม
    หมายถึง ก. สถาปนาเจ้านายขึ้นทรงกรม.
  79. ตั้งตัว
    หมายถึง ก. ตั้งฐานะหรือตั้งหลักฐาน; ยกย่องตัว, สถาปนาตัว, เช่น ตั้งตัวเป็นหัวหน้า ตั้งตัวเป็นใหญ่.
  80. ตั้งตาคอย
    หมายถึง ก. เฝ้าคอย.
  81. ตั้งต้น
    หมายถึง ก. เริ่มทำ, ขึ้นต้น.
  82. ตั้งท่า
    หมายถึง ก. วางท่า; เตรียมตัวพร้อม, คอยทีอยู่.
  83. ตั้งท้อง
    หมายถึง ว. เรียกข้าวที่มีรวงอ่อน ๆ ว่า ข้าวตั้งท้อง.
  84. ตั้งธาตุ
    หมายถึง ก. จัดระบบการย่อยอาหารให้เป็นปรกติ.
  85. ตั้งนาฬิกา
    หมายถึง ก. เทียบนาฬิกาให้ตรงเวลา.
  86. ตั้งนาฬิกาปลุก
    หมายถึง ก. ตั้งเวลาให้นาฬิกาปลุกตามที่ต้องการ.
  87. ตั้งหน้า,ตั้งหน้าตั้งตา
    หมายถึง ก. มุ่งหน้า; ตั้งใจทำ, ทำอย่างจริงจัง, มุ่งมั่น.
  88. ตั้งหัวเรือ
    หมายถึง ก. ทำให้เรืออยู่ในแนว ไม่ให้หัวเรือส่ายไปมา.
  89. ตั้งอกตั้งใจ
    หมายถึง ก. เอาใจจดจ่อ, ตั้งใจ ก็ว่า.
  90. ตั้งเข็ม,ตั้งเป้าหมาย
    หมายถึง ก. ตั้งความมุ่งหมาย, กำหนดจุดมุ่งหมาย.
  91. ตั้งเค้า
    หมายถึง ก. เริ่มแสดงท่าทีให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น ฝนตั้งเค้า.
  92. ตั้งแง่
    หมายถึง ก. ทำชั้นเชิง, ไม่ตรงไปตรงมา, คอยหาเรื่องจับผิด.
  93. ตั้งแต่
    หมายถึง บ. นับจากเวลาหนึ่งหรือสถานที่หนึ่งเป็นต้นไป (มักใช้เข้าคู่กับคำ จนถึง หรือ จนกระทั่ง).
  94. ตั้งแต่ง
    หมายถึง ก. ยกขึ้น, สถาปนา.
  95. ตั้งโต๊ะ
    หมายถึง ก. จัดโต๊ะอาหาร; จัดโต๊ะหมู่บูชา.
  96. ตั้งใจ,ตั้งอกตั้งใจ
    หมายถึง ก. เอาใจจดใจจ่อ.
  97. ตั้งไข่
    หมายถึง ก. สอนยืน (ใช้แก่เด็ก).
  98. ตั้วสิว
    หมายถึง ก. ซ่อมแซม เช่น ต้องตั้วสิวสำเภาเอาเข้าอู่. (จ.).
  99. ตั้วเหี่ย
    หมายถึง น. ตำแหน่งหัวหน้าอั้งยี่, อั้งยี่. (จ.).
  100. ตั้วโผ
    หมายถึง น. หัวหน้าคณะมหรสพ มีละคร งิ้ว เป็นต้น, โต้โผ ก็เรียก. (จ.).

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ต (หน้าที่ 8)"