พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ต (หน้าที่ 3)

  1. ตราขุนพล
    หมายถึง น. ลายที่ขีดเป็นกากบาทที่ก้นหม้อตาลสำหรับปักไว้กันผี.
  2. ตราจอง
    หมายถึง (กฎ; เลิก) น. ใบอนุญาตให้จับจองที่ดิน ซึ่งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วภายใน ๓ ปี.
  3. ตราชู
    หมายถึง [ตฺรา-] น. เครื่องชั่งชนิดที่มีถาดชั่งห้อยอยู่ ๒ ข้างคันชั่ง มีตุ้มน้ำหนักบอกนํ้าหนักของของที่ชั่ง.
  4. ตราตั้ง
    หมายถึง น. เอกสารแต่งตั้ง เช่น ตราตั้งพระอุปัชฌายะ ตราตั้งที่พระราชทานให้แก่ธนาคารหรือบริษัทห้างร้านเป็นต้นที่ทำประโยชน์ในราชการส่วนพระองค์หรือประเทศชาติ มีสิทธิที่จะใช้ตราครุฑเพื่อแสดงว่าได้รับพระบรมราชานุญาต.
  5. ตราบ
    หมายถึง [ตฺราบ] น. ข้าง, ฟาก, ริม. สัน. จนถึง, เมื่อ, เช่น ยังมีลมหายใจอยู่ตราบใด ก็ถือว่ายังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น.
  6. ตราบาป
    หมายถึง น. บาปติดตัว, ความรู้สึกว่าเป็นบาปซึ่งมีฝังอยู่ในจิตใจตลอดไป.
  7. ตราบเท่า
    หมายถึง บ. ตลอด, ถึง, จวบจวน, เช่น รักษาเอกราชมาได้จนตราบเท่าทุกวันนี้. สัน. ตลอด, ถึง, จวบจวน, เช่น เราจะจงรักภักดีต่อประเทศชาติตราบเท่าชีวิตจะหาไม่, ตราบท้าว ก็ว่า.
  8. ตราภูมิ
    หมายถึง (โบ) น. หนังสือประจำตัวสำหรับคุ้มค่าน้ำค่าตลาดสมพัตสรได้เพียงราคา ๑ ตำลึง. (ประกาศ ร. ๔), มักใช้เข้าคู่กับคำ คุ้มห้าม เป็น ตราภูมิคุ้มห้าม.
  9. ตรายาง
    หมายถึง น. ตราที่ทำด้วยยางสำหรับประทับบนกระดาษเป็นต้น.
  10. ตราสัง
    หมายถึง ก. มัดศพ, ผูกศพให้เป็นเปลาะ ๆ ด้วยด้ายดิบเป็นต้น.
  11. ตราสาร
    หมายถึง (กฎ) น. หนังสือสำคัญซึ่งเป็นเอกสารแสดงสิทธิต่าง ๆ เช่น โฉนดที่ดิน ตั๋วเงิน.
  12. ตราสารจัดตั้ง
    หมายถึง (กฎ) น. หนังสือสำคัญก่อตั้งนิติบุคคลที่กำหนดขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น.
  13. ตราสิน
    หมายถึง ก. แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน, จดทะเบียน, เช่น ตราสินหนังสือพิมพ์ ตราสินชื่อย่อโทรเลข.
  14. ตราหน้า
    หมายถึง ก. หมายหน้าไว้; หยามหน้า, สบประมาท.
  15. ตราแดง
    หมายถึง (โบ) น. หนังสือสำคัญซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตให้จับจองที่นา ใช้ในบางจังหวัด แทนตราจอง แต่ไม่กำหนดเวลา ๓ ปี ออกให้ในสมัยหนึ่ง แล้วงดไม่ออกอีก เพื่อเก็บอากรค่านาเป็นนาคู่โค แทนที่เคยเป็นนาฟางลอย.
  16. ตราไปรษณียากร
    หมายถึง น. แสตมป์, (กฎ) บัตรตราใด ๆ ซึ่งจัดให้มีขึ้น เพื่อใช้เป็นค่าไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมอื่น หรือจำนวนเงินที่จะต้องเสียในการส่งไปรษณียภัณฑ์ รวมทั้งตราไปรษณียากรสำหรับผนึก หรือตราไปรษณียากรที่พิมพ์ ดุน หรือแสดงไว้โดยวิธีอื่นบนซอง กระดาษห่อ ไปรษณียบัตร หรือสิ่งอื่น ๆ.
  17. ตรำ
    หมายถึง [ตฺรำ] ว. ปล่อยทิ้งตากแดดตากฝนไว้นาน ๆ เช่น ตัดไม้ทิ้งตรำแดดตรำฝนไว้, สู้ทนลำบาก เช่น ทำงานตรำแดดตรำฝน ตรำงาน, กรำ ก็ว่า.
  18. ตริ
    หมายถึง [ตฺริ] ก. คิด, ตรึกตรอง.
  19. ตริ
    หมายถึง [ตฺริ] ใช้ประกอบหน้าศัพท์ แปลว่า สาม เช่น ตริโกณ คือ รูปสามเหลี่ยม. (ดู ตรี ๓).
  20. ตริตรอง
    หมายถึง [-ตฺรอง] ก. ใคร่ครวญ, คิดทบทวน, ตรึกตรอง.
  21. ตริว
    หมายถึง [ตฺริว] น. เต่า, กริว หรือ จริว ก็ว่า. (พจน. ๒๔๙๓).
  22. ตรี
    หมายถึง [ตฺรี] น. ปลา. (ข.).
  23. ตรี
    หมายถึง [ตฺรี] น. คำตัดมาจาก ตรีศูล.
  24. ตรี
    หมายถึง [ตฺรี] ว. สาม เช่น ตรีเนตร, ชั้นที่ ๓ (ใช้เกี่ยวกับลำดับชั้นหรือขั้นของยศ ตำแหน่ง คุณภาพ หรือ วิทยฐานะ ตํ่ากว่า โท สูงกว่า จัตวา) เช่น ร้อยตรี ข้าราชการชั้นตรี ปริญญาตรี; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้ ๊ ว่า ไม้ตรี. (ส. ตฺริ).
  25. ตรีกฏุก
    หมายถึง น. ของเผ็ดร้อน ๓ ชนิด คือ พริกไทย ดีปลี ขิงแห้ง.
  26. ตรีกันสวาต
    หมายถึง [-สะหฺวาด] น. กลิ่นแก้ลม ๓ อย่าง คือ ผลเร่วใหญ่ ผลจันทน์เทศ กานพลู.
  27. ตรีกาย
    หมายถึง น. พระกายทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้าตามคติพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน ได้แก่ ๑. ธรรมกาย (พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า) ๒. สัมโภคกาย (กายทิพย์หรือกายละเอียดของพระพุทธเจ้า) และ ๓. นิรมาณกาย (กายที่เป็นขันธ์ ๕ และปรากฏแก่มนุษย์ทั่วไป ซึ่งบางทีเรียกว่า รูปกาย).
  28. ตรีกาล
    หมายถึง น. กาลทั้ง ๓ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต, เวลาทั้ง ๓ คือ เช้า กลางวัน เย็น.
  29. ตรีกาฬพิษ
    หมายถึง [-กาละพิด, -กานละพิด] น. พิษกาฬ ๓ อย่าง คือ กระชาย รากข่า รากกะเพรา.
  30. ตรีกูฏ
    หมายถึง น. ชื่อเขา ๓ ยอดในไตรภูมิ, โบราณเรียกว่า ผาสามเส้า. (ส. ตฺริกูฏ ว่า มี ๓ ยอด).
  31. ตรีคูณ
    หมายถึง น. ๓ เท่า. (ส. ตฺริคุณ).
  32. ตรีจีวร
    หมายถึง น. ผ้า ๓ ผืน หมายถึง ผ้าของภิกษุ คือ อันตรวาสก (สบง) อุตราสงค์ (จีวร) และสังฆาฏิ (ผ้าทาบ), แต่โดยมากใช้ไตรจีวร เรียกสั้น ๆ ว่า ผ้าไตร. (ส. ตฺริจีวร; ป. ติจีวร).
  33. ตรีฉินทลามกา
    หมายถึง [-ฉินทะลามะกา] น. ของแก้ลามกให้ขาดไป ๓ อย่าง คือ โกฐนํ้าเต้า สมอไทย รงทอง.
  34. ตรีชาต
    หมายถึง น. วัตถุ ๓ คือ ดอกจันทน์ กระวาน อบเชย.
  35. ตรีญาณรส
    หมายถึง [-ยานนะรด] น. รสสำหรับรู้ ๓ อย่าง คือ ไส้หมาก รากสะเดา เถาบอระเพ็ด.
  36. ตรีทศ
    หมายถึง น. เทวดา ๓๓ องค์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มิได้แยกว่าใครเป็นใคร หมายถึง พระอินทร์และบริวารพระอินทร์ ๓๒ องค์, ไตรทศ ก็เรียก. (ส. ตฺริทศ ว่า สามสิบ).
  37. ตรีทิพ
    หมายถึง น. สวรรค์ชั้นดาวดึงส์, สวรรค์ชั้นที่ ๒ หรือชั้นวิเศษสุด, สวรรค์ทั่วไป, เรียก ไตรทิพ หรือ ไตรทิพย์ ก็ได้. (ส. ตฺริทิว).
  38. ตรีทิพยรส
    หมายถึง [-ทิบพะยะรด] น. รสทิพย์ ๓ อย่าง คือ โกฐกระดูก เนื้อไม้ อบเชยไทย.
  39. ตรีทุรวสา
    หมายถึง น. ของแก้มันเหลวเสีย ๓ อย่าง คือ เมล็ดโหระพา ผลกระวาน ผลราชดัด.
  40. ตรีทูต
    หมายถึง น. ผู้แทนคนที่ ๓; ลักษณะบอกอาการของคนเจ็บหนักใกล้จะตาย.
  41. ตรีธารทิพย์
    หมายถึง น. ของทิพย์ที่ทน ๓ อย่าง คือ รากไทรย้อย รากราชพฤกษ์ รากมะขามเทศ.
  42. ตรีนิศก
    หมายถึง (โบ) น. ตรีศก.
  43. ตรีบถ
    หมายถึง น. ที่ซึ่งทางทั้ง ๓ มาจดกัน, ทางสามแพร่ง. (ส. ตฺริปถ).
  44. ตรีบูร
    หมายถึง น. เมืองอันมีป้อมค่าย ๓ ชั้น, ๓ ชั้น เช่น เมืองสุโขทัยนี้ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา. (จารึกสยาม), อยุธยาไพโรจน์ใต้ ตรีบูร. (กำสรวล). (ส. ตฺริปุร ว่า ป้อม ๓ ชั้น).
  45. ตรีประดับ
    หมายถึง น. ชื่อกลบทชนิดหนึ่ง.
  46. ตรีปวาย
    หมายถึง [ตฺรีปะ-] น. พิธีพราหมณ์กระทำรับพระนารายณ์ ที่เรียกเป็นสามัญว่า พิธีแห่พระนารายณ์ ซึ่งกระทำในวันแรมคํ่า ๑ ถึงแรม ๕ คํ่า เดือนยี่. (เทียบทมิฬ ติรุปปาไว).
  47. ตรีปิฎก
    หมายถึง น. พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งมี ๓ หมวดใหญ่ หมวดหนึ่งเรียกว่า ปิฎกหนึ่ง คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมซึ่งโดยมากเรียกว่า ปรมัตถ์, ใช้ว่า ไตรปิฎก ก็ได้. (ส. ตฺริปิฏก; ป. ติปิฏก ว่า ตะกร้า ๓).
  48. ตรีปิตผล
    หมายถึง [-ปิตะผน] น. ผลแก้ดี ๓ อย่าง คือ เจตมูลเพลิงเทศ ผักแพวแดง รากกะเพรา.
  49. ตรีผลธาตุ
    หมายถึง น. ผลแก้ธาตุ ๓ อย่าง คือ กะทือ ไพล รากตะไคร้.
  50. ตรีผลสมุตถาน
    หมายถึง [-สะหฺมุดถาน] น. ที่เกิดแห่งผล ๓ อย่าง คือ ผลมะตูม ผลยอ ผลผักชีลา.
  51. ตรีผลา
    หมายถึง [-ผะลา] น. ชื่อผลไม้ ๓ อย่างประกอบขึ้นใช้ในตำรายาไทย หมายเอา สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม. (ส. ตฺริผลา).
  52. ตรีพิธพรรณ
    หมายถึง [ตฺรีพิดทะพัน] น. ชื่อกลบทชนิดหนึ่ง; ชื่อโคลง ๔ ประเภทหนึ่ง.
  53. ตรีพิษจักร
    หมายถึง [-พิดสะจัก] น. จักรพิษ ๓ อย่าง คือ กานพลู ผักชีล้อม ผลจันทน์เทศ.
  54. ตรีภพ
    หมายถึง น. ภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ, ตามไสยศาสตร์ว่าได้แก่ สวรรค์ มนุษยโลก บาดาล, ไตรภพ ก็ใช้. (ส. ตฺริภว).
  55. ตรีภพนาถ
    หมายถึง น. ที่พึ่งแห่งภพ ๓, พระพุทธเจ้า, พระอินทร์, ใช้ทั่วไปถึงผู้อื่นด้วย เช่น กษัตริย์ ก็มี.
  56. ตรีภูมิ,ไตรภูมิ
    หมายถึง น. ตรีภพ. (ส. ตฺริภูมิ).
  57. ตรีภูวะ
    หมายถึง [-พูวะ] น. ตรีภพ. (ส. ตฺริภูว).
  58. ตรีมธุระ
    หมายถึง [-มะทุระ] น. ของมีรสดี ๓ อย่าง คือ นํ้าตาล นํ้าผึ้ง นํ้ามันเนย.
  59. ตรีมูรติ
    หมายถึง ว. มีรูป ๓ คือ รูปพระพรหม รูปพระวิษณุ รูปพระศิวะ. น. ชื่อเรียกเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ มี ๓ องค์ คือ พระพรหม (พระผู้สร้าง) พระวิษณุหรือพระนารายณ์ (พระผู้รักษา) และพระศิวะหรือพระอิศวร (พระผู้ทำลาย). (ส. ตฺริมูรฺติ).
  60. ตรียมก
    หมายถึง [ตฺรียะมก] น. ชื่อกลบทชนิดหนึ่ง.
  61. ตรียัมปวาย
    หมายถึง [ตฺรียำปะ-] น. พิธีพราหมณ์ฝ่ายใต้กระทำรับพระอิศวร ที่เรียกเป็นสามัญว่า พิธีโล้ชิงช้า ซึ่งกระทำในวันขึ้น ๗ คํ่าตอนเช้า ขึ้น ๙ คํ่าตอนเย็น เดือนยี่. (เทียบทมิฬ ติรุเวมปาไว).
  62. ตรีรัตน์
    หมายถึง น. แก้วทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์, โดยมากใช้ ไตรรัตน์. (ส. ตฺริรตน).
  63. ตรีวาตผล
    หมายถึง [-วาตะผน] น. ผลแก้ลม ๓ อย่าง คือ ผลสะค้าน รากพริกไทย ข่า.
  64. ตรีศก
    หมายถึง น. เรียกปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข ๓ เช่น ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๓๔๓.
  65. ตรีศูล
    หมายถึง น. หลาวสามง่ามเป็นศัสตราประจำหัตถ์พระอิศวร.
  66. ตรีสมอ
    หมายถึง น. สมอ ๓ อย่าง คือ สมอไทย สมอพิเภก สมอเทศ.
  67. ตรีสมุตถาน
    หมายถึง [-สะหฺมุดถาน] น. สมุตถาน ๓ อย่าง คือ ดี เสมหะ ลม.
  68. ตรีสัตกุลา
    หมายถึง [-สัดตะ-] น. ตระกูลอันสามารถ ๓ อย่าง คือ เทียนดำ ผักชีลา ขิงสด.
  69. ตรีสันนิบาตผล
    หมายถึง น. ผลแก้สันนิบาต ๓ อย่าง คือ ผลดีปลี รากกะเพรา รากพริกไทย.
  70. ตรีสาร
    หมายถึง น. แก่น ๓ อย่าง คือ แสมสาร แสมทะเล ขี้เหล็ก, หรืออีกอย่างหนึ่ง รส ๓ อย่าง เป็นคำแพทย์ใช้ในตำรายาไทย ประสงค์เอา เจตมูลเพลิง สะค้าน ช้าพลู. (ส.).
  71. ตรีสินธุรส
    หมายถึง น. รสนํ้า ๓ อย่าง คือ รากมะตูม เทียนขาว นํ้าตาลกรวด.
  72. ตรีสุคนธ์
    หมายถึง น. กลิ่นหอม ๓ อย่าง คือ ใบกระวาน อบเชยเทศ รากพิมเสน.
  73. ตรีสุรผล
    หมายถึง น. ยามีผลกล้า ๓ อย่าง คือ สมุลแว้ง เนื้อไม้ เทพทาโร.
  74. ตรีอมฤต
    หมายถึง [-อะมะริด, -อะมะรึด] น. ของไม่ตาย ๓ อย่าง คือ รากกล้วยตีบ รากกระดอม มะกอก.
  75. ตรีอากาศผล
    หมายถึง น. ผลแก้อากาศธาตุ ๓ อย่าง คือ ขิง กระลำพัก อบเชยเทศ.
  76. ตรีเกสรมาศ
    หมายถึง น. เกสรทอง ๓ อย่าง คือ ผลมะตูมอ่อน เปลือกฝิ่น เกสรบัวหลวง.
  77. ตรีเทวตรีคันธา
    หมายถึง [-ทะเวตฺรี-] น. กลิ่นสามสองสาม คือ แก่น ดอก ราก แห่งมะซางและบุนนาค. (ศัพท์คัมภีร์แพทย์).
  78. ตรีเนตร
    หมายถึง น. ชื่อหนึ่งของพระอิศวร แปลว่า ผู้มีนัยน์ตา ๓ ตา โบราณมักเรียกว่า พระอินสวน และเขียนเป็น พระอินศวร ต่อมาจึงใช้เพี้ยนไป หมายถึง พระอินทร์. (ส. ตฺริเนตฺร).
  79. ตรีเพชรทัณฑี
    หมายถึง [ตฺรีเพ็ดทันที] น. ชื่อโคลงชนิดหนึ่ง.
  80. ตรีเพชรพวง
    หมายถึง น. ชื่อกลบทชนิดหนึ่ง.
  81. ตรีเพชรสมคุณ
    หมายถึง [-เพ็ดสะมะคุน] น. คุณเสมอเพชร ๓ อย่าง คือ ว่านหางจระเข้ ฝักราชพฤกษ์ รงทอง.
  82. ตรีเสมหผล
    หมายถึง น. ผลแก้เสมหะ ๓ อย่าง คือ ผลช้าพลู รากดีปลี รากมะกลํ่า.
  83. ตรีเอกภาพ,ตรีเอกานุภาพ
    หมายถึง น. คติความเชื่อในศาสนาคริสต์ที่ว่าพระบิดา พระบุตร และพระจิต (คาทอลิก) หรือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ (โปรเตสแตนต์) เป็น ๓ บุคคลที่รวมเป็นหนึ่ง ซึ่งความจริงก็คือพระเป็นเจ้าองค์เดียวกันนั่นเอง.
  84. ตรีโกณ
    หมายถึง น. รูปสามเหลี่ยม. (ส. ตฺริโกณ).
  85. ตรีโกณมิติ
    หมายถึง [ตฺรีโกน-] น. คณิตศาสตร์แขนงหนึ่งที่ว่าด้วยฟังก์ชันของตัวแปรจริง ซึ่งแทนขนาดของมุมใด ๆ, คณิตศาสตร์แขนงหนึ่งที่ว่าด้วยการใช้ฟังก์ชันของมุมเป็นรากฐานในการศึกษาสมบัติของรูปสามเหลี่ยมหรือรูปอื่นใดที่ทอนลงมาเป็นรูปสามเหลี่ยมได้. (อ. trigonometry).
  86. ตรีโทษ
    หมายถึง น. อาการไข้ที่ลม เสมหะ เลือด ประชุมกัน ๓ อย่างให้โทษ, ไข้หนักจวนจะตาย. (ส. ตฺริ + โทษ).
  87. ตรีโลก
    หมายถึง น. ตรีภพ, ไตรโลก ก็ใช้. (ส. ตฺริโลก).
  88. ตรีโลกนาถ
    หมายถึง [-โลกกะนาด] น. พระพุทธเจ้า, พระอินทร์, พระศิวะ. (ส. ตฺริโลกนาถ).
  89. ตรีโลจน์
    หมายถึง น. พระศิวะ. (ส. ตฺริโลจน ว่า มี ๓ ตา).
  90. ตรีโลหก
    หมายถึง [-หก] น. แร่ทั้ง ๓ คือ ทองคำ เงิน ทองแดง. (ส. ตฺริโลหก).
  91. ตรีโลหะ
    หมายถึง น. แร่ทั้ง ๓ คือ ทองแดง ทองเหลือง ทองหล่อระฆัง, หรืออีกตำราหนึ่งว่า ทองคำ เงิน ทองแดง. (ส. ตฺริโลห).
  92. ตรีโลเกศ
    หมายถึง น. พระวิษณุ, พระอาทิตย์. (ส. ตฺริโลเกศ).
  93. ตรึก
    หมายถึง [ตฺรึก] ก. หมด, สิ้น, เปลือง, น้อย, มักใช้ในความปฏิเสธว่า ไม่ตรึก, มิตรึก, เช่น จึงองค์มิสาระปันหยี จึงตอบว่าข้าจะให้ไก่ดีดี ของเรามีไม่ตรึกอย่าร้อนใจ. (อิเหนา), ท่านก็ไม่ขัดสนจนพราย มากมายตามพรูอยู่มิตรึก แรกรักจะรำพันให้ครั่นครึก. (ขุนช้างขุนแผน), ฤๅจะใคร่ได้เมียสาว ๆ ขาว ๆ ดี ๆ มีไม่ตรึก. (มณีพิชัย).
  94. ตรึก
    หมายถึง [ตฺรึก] ก. นึก, คิด. (ส. ตรฺก; ป. ตกฺก).
  95. ตรึกตรอง
    หมายถึง [ตฺรึกตฺรอง] ก. ใคร่ครวญ, คิดทบทวน, ตริตรอง.
  96. ตรึกถอง
    หมายถึง [ตฺรึก-] (ถิ่น-ปักษ์ใต้) ว. น้อย, มักใช้ในความปฏิเสธว่า ไม่ตรึกถอง หรือ ไม่ตรึกไม่ถอง เช่น มีทรัพย์สมบัติไม่ตรึกถอง นับไม่ตรึกไม่ถอง.
  97. ตรึง
    หมายถึง [ตฺรึง] ก. ทำให้อยู่กับที่ เช่น ตรึงตะปู ตรึงที่นอน ตรึงข้าศึก, ทำให้อยู่คงที่ เช่น ตรึงราคาสินค้าไว้, ติดอยู่ เช่น ตรึงใจ.
  98. ตรึงตรา
    หมายถึง ก. ติดแน่น.
  99. ตรึงศ,ตรึงศ-
    หมายถึง [ตฺรึงสะ-] (แบบ) ว. สามสิบ. (ส. ตฺรึศตฺ; ป. ตึส).
  100. ตรุ
    หมายถึง [ตฺรุ] น. ที่ขังคน, ตะราง, เรือนจำนักโทษ, คุก.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ต (หน้าที่ 3)"