พจนานุกรมไทย

คำในภาษาไทย หมวด ช (หน้าที่ 9)

  1. เชิงกราน
    หมายถึง น. เตาไฟปั้นด้วยดินยกตั้งได้ มีชานสำหรับวางฟืน; เรียกกระดูกตะโพกที่มีสัณฐานอย่างเชิงกรานว่า กระดูกเชิงกราน.
  2. เชิงกล
    หมายถึง ว. เกี่ยวกับเครื่องกล.
  3. เชิงกลอน
    หมายถึง น. ไม้ประกับปลายเต้าตลอดชายคาเรือนแบบเก่า; ไม้ประกับปลายจันทันตลอดชายคาเรือนแบบใหม่ที่ไม่มีเต้า.
  4. เชิงกอบ
    หมายถึง (โบ) ก. ผูก, มัด, จังกอบ ก็เรียก.
  5. เชิงชั้น
    หมายถึง น. เล่ห์เหลี่ยม, ท่วงที, อุบาย, ชั้นเชิง ก็ว่า.
  6. เชิงชาย
    หมายถึง น. ไม้เครื่องเรือนรูปแบน สำหรับรับชายคาเรือนที่ไม่มีกลอน, ถ้าเรือนมีกลอน เรียกว่า เชิงกลอน.
  7. เชิงซ้อน
    หมายถึง ว. ซับซ้อน, ซ้อนกัน, เช่น ภาพเชิงซ้อน, มีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น จำนวนเชิงซ้อน.
  8. เชิงตะกอน
    หมายถึง น. ฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ.
  9. เชิงทรง
    หมายถึง น. เรียกนาชนิดที่ไม่มีทางจะบุกเบิกออกไปได้อีกว่า นาเชิงทรง, นาขอบเหล็ก ก็ว่า.
  10. เชิงมุม
    หมายถึง ว. เกี่ยวกับมุม เช่น ระยะสูงเชิงมุม.
  11. เชิงอรรถ
    หมายถึง น. คำอธิบายหรือข้ออ้างอิงที่เขียนหรือพิมพ์ไว้ที่ส่วนล่างของหน้าหนังสือหรือตอนท้ายของเรื่อง.
  12. เชิงเดิน
    หมายถึง น. ค่าป่วยการที่วิ่งเต้นทำธุระให้ เรียกว่า ค่าเชิงเดิน.
  13. เชิงเดียว
    หมายถึง ว. ไม่ซับซ้อน, ไม่มีสิ่งอื่นเจือปน.
  14. เชิงเดี่ยว
    หมายถึง ว. เดี่ยวโดด, โดดเดี่ยว, ไม่มีคู่.
  15. เชิงเทิน
    หมายถึง น. ที่ดินที่พูนสูงขึ้นเป็นเชิงของป้อมปราการ, พื้นที่ว่างภายในป้อมสำหรับให้ทหารขึ้นไปอยู่ตรวจการณ์หรือต่อสู้ข้าศึก.
  16. เชิงเวียน
    หมายถึง น. ชื่อลายชนิดหนึ่ง เช่น เอาพระจำเจิมเฉลิมเชิงเวียน. (ม. คำหลวง นครกัณฑ์).
  17. เชิงแป
    หมายถึง น. แผ่นไม้ที่อยู่ใต้แปหัวเสาตกแต่งให้มีบ่าเพื่อใช้รองรับกลอน.
  18. เชิญ
    หมายถึง ก. แสดงความปรารถนาเพื่อขอให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความเคารพหรืออ่อนน้อม เช่น เชิญเทวดา เชิญมารับประทานอาหาร; ถือ อุ้ม ชู หรือนำไปเป็นต้นด้วยความเคารพ เช่น เชิญพระแสง เชิญพระพุทธรูป เชิญธง เชิญขันหมาก; กล่าวอนุญาตให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความสุภาพหรืออ่อนน้อม เช่น เชิญเถิด เชิญครับ เชิญตามสบาย.
  19. เชิด
    หมายถึง ก. ยื่นหรือยกขึ้นจนเห็นเด่น เช่น เชิดหน้า เชิดอก; โดยปริยายหมายความว่า ถูกใช้ให้ออกหน้าแทน ในคำว่า ถูกเชิด. ว. ที่ยื่นหรือยกขึ้นจนเห็นเด่น เช่น ปากเชิด จมูกเชิด หน้าเชิด. น. ชื่อเพลงไทยประเภทหนึ่ง ใช้บรรเลงในการแสดงกิริยาไปมาอย่างรวดเร็วหรือการเดินทางระยะไกล เรียกว่า เพลงเชิด เช่น เชิดกลอง เชิดฉิ่ง เชิดฉาน เชิดนอก; ท่าโขนท่าหนึ่ง.
  20. เชิดจีน
    หมายถึง น. ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง.
  21. เชิดชู
    หมายถึง ก. ยกย่อง, ชมเชย.
  22. เชิดหนัง
    หมายถึง ก. ยกชูตัวหนังตะลุงขึ้นให้เคลื่อนไหวไปตามบทบาท, ยกชูตัวหนังใหญ่แล้วผู้เชิดเยื้องกรายประกอบไปตามบทบาท.
  23. เชิดหน้าชูตา
    หมายถึง ก. ทำให้มีหน้ามีตาขึ้น, ชูหน้าชูตา ก็ว่า.
  24. เชิดหุ่น
    หมายถึง ก. ยกชูหุ่นขึ้นให้แสดงกิริยาท่าทางไปตามบทบาท.
  25. เชิ้ต
    หมายถึง น. เสื้อคอปกชนิดหนึ่ง. (อ. shirt).
  26. เชีย
    หมายถึง (โบ) ก. ไหว้ เช่น เชียเชิงเจ้าพ่อผัวแม่แง่. (ม. คำหลวง ทานกัณฑ์).
  27. เชียง
    หมายถึง น. คำเรียกเมืองทางภาคพายัพและเหนือขึ้นไป เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เชียงตุง.
  28. เชียง
    หมายถึง น. โกฐเชียง. (ดู โกฐเชียง).
  29. เชียง
    หมายถึง น. เรียกเครื่องหอมชนิดหนึ่งว่า ชะมดเชียง. (ดู ชะมดเชียง).
  30. เชียด
    หมายถึง (ปาก) น. พ่อหรือแม่ของทวด, เทียด ก็ว่า.
  31. เชียบ
    หมายถึง ก. เงียบ เช่น เชียบเสียงสงสารองค์. (สมุทรโฆษ).
  32. เชียร
    หมายถึง ว. แก่ครํ่าคร่า, ชำรุด. (แผลงมาจาก ชีระ).
  33. เชียร
    หมายถึง ว. ว่องไว, เก่ง, เชี่ยว, เช่น เชียรเชียรใบบาตรนํ้า. (แช่งนํ้า). (แผลงมาจาก ชีระ).
  34. เชียรณ์
    หมายถึง ว. เก่า, แก่, ชำรุด, ยุ่ย, ย่อย, โบราณ. (แผลงมาจาก ชีรณ).
  35. เชียร์
    หมายถึง ก. ให้กำลังใจด้วยการตะโกนโห่ร้อง ใช้ในการแข่งขัน. (อ. cheer).
  36. เชียว
    หมายถึง ว. เทียว, ทีเดียว.
  37. เชี่ยน,เชี่ยนหมาก
    หมายถึง น. ภาชนะสำหรับใส่เครื่องหมากพลู.
  38. เชี่ยม
    หมายถึง น. ชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่ง. (พจน. ๒๔๙๓).
  39. เชี่ยว
    หมายถึง ว. อาการที่สายนํ้าไหลแรง เรียกว่า นํ้าไหลเชี่ยว.
  40. เชี่ยวชาญ
    หมายถึง ว. สันทัดจัดเจน, ชํ่าชอง, มีความชำนิชำนาญมาก.
  41. เชี้ย
    หมายถึง (โบ) ก. เชื้อ, มักใช้ประกอบกับคำ เชิญ เป็น เชี้ยเชิญ.
  42. เชือก
    หมายถึง น. สิ่งที่ทำด้วยด้ายหรือป่านปอเป็นต้น มักฟั่นหรือตีเกลียวสำหรับผูกหรือมัด; ลักษณนามเรียกช้างบ้าน เช่น ช้างเชือกหนึ่ง ช้าง ๒ เชือก.
  43. เชือกบาศ
    หมายถึง น. เชือกที่ทำเป็นบ่วงผูกปลายไม้คันจามสำหรับคล้องเท้าช้าง.
  44. เชือกเขา
    หมายถึง น. เถาวัลย์.
  45. เชือด
    หมายถึง ก. ใช้ของมีคมเช่นมีดโกนตัดให้ลึกเข้าไปในเนื้อ เช่น เชือดคอ.
  46. เชือน
    หมายถึง ว. ชักช้า.
  47. เชือนแช
    หมายถึง ว. ไถล, เถลไถลไม่ตรงไปตรงมา, แชเชือน ก็ว่า.
  48. เชื่อ
    หมายถึง ก. เห็นตามด้วย, มั่นใจ, ไว้ใจ; ซื้อหรือขายโดยติดค้างไว้ ไม่ต้องชำระเงินทันที.
  49. เชื่อง
    หมายถึง ว. ไม่เปรียว, ที่คุ้นกับคน, (ใช้แก่สัตว์).
  50. เชื่องช้า
    หมายถึง ว. อืดอาด, ยืดยาด, ไม่ว่องไว.
  51. เชื่อถือ
    หมายถึง ก. นับถือ.
  52. เชื่อฟัง
    หมายถึง ก. ทำตามหรือประพฤติตามคำสั่งหรือคำสอน.
  53. เชื่อม
    หมายถึง ก. ทำให้ติดเป็นเนื้อเดียวกัน เช่น เชื่อมเหล็ก, ทำให้ประสานกัน เช่น เชื่อมสัมพันธไมตรี.
  54. เชื่อม
    หมายถึง ว. มีอาการเงื่องเหงามึนซึมคล้ายเป็นไข้ เช่น เชื่อมซึม.
  55. เชื่อม
    หมายถึง ก. ทำของหวานอย่างหนึ่ง โดยเอานํ้าตาลใส่นํ้าตั้งไฟเคี่ยวให้ละลาย แล้วใส่สิ่งที่ต้องการเคี่ยวจนได้ที่ เช่น เชื่อมกล้วย, เคี่ยวนํ้าตาลให้ใสเพื่อประสมกับสิ่งอื่น เช่น วุ้นนํ้าเชื่อม. ว. เรียกนํ้าหวานที่เอานํ้าตาลเคี่ยวให้ใสเพื่อใช้ประสมหรือเคี่ยวกับสิ่งอื่นว่า นํ้าเชื่อม; ใช้ประกอบคำ หวาน หมายความว่า หวานมาก เช่น ตาหวานเชื่อม.
  56. เชื่อมือ
    หมายถึง (ปาก) ก. เชื่อฝีมือ, เชื่อความรู้ความสามารถ.
  57. เชื่อวัน
    หมายถึง ว. คำใช้เข้าคู่กับคำ ทุกเมื่อ เป็น ทุกเมื่อเชื่อวัน หมายความว่า ทุกขณะ, ทุกวัน, เสมอ. (ม. คำหลวง นครกัณฑ์).
  58. เชื่อใจ
    หมายถึง ก. ไว้ใจ.
  59. เชื้อ
    หมายถึง น. สิ่งที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดสิ่งอื่น ๆ ที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น เชื้อไฟ เชื้อเหล้า; ผู้ที่สืบวงศ์วานว่านเครือเผ่าพันธุ์ต่อ ๆ กันมา เช่น มีเชื้อจีน มีเชื้อแขก; อย่าง เช่น ๓ เชื้อ ว่า ๓ อย่าง.
  60. เชื้อ
    หมายถึง ก. เชิญ เช่น สาวใช้เชื้อชูไป. (ม. คำหลวง ทศพร), มักใช้เข้าคู่กับคำ เชิญ เป็น เชื้อเชิญ; ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่งที่มักใช้เนื่องในการอธิษฐาน.
  61. เชื้อชาติ
    หมายถึง น. ผู้ที่ร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกัน.
  62. เชื้อรา
    หมายถึง น. เชื้อจุลินทรีย์อยู่ในกลุ่มพืชชั้นตํ่า บางชนิดทำให้เกิดโรค เช่น กลาก เกลื้อนได้.
  63. เชื้อสาย
    หมายถึง น. เผ่าพันธุ์.
  64. เชื้อหมัก
    หมายถึง น. จุลินทรีย์พวกราที่มีขนาดเล็ก สามารถเปลี่ยนนํ้าตาลให้เป็นแอลกอฮอล์และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้. (อ. yeast).
  65. เชื้อเชิญ
    หมายถึง ก. เชิญด้วยความสุภาพ, เชิญด้วยความอ่อนน้อม.
  66. เชื้อเพลิง
    หมายถึง น. สิ่งที่ทำให้ไฟติดง่าย; สิ่งที่ทำให้เกิดการเผาไหม้.
  67. เชื้อโรค
    หมายถึง น. สิ่งที่มีชีวิต เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์หรือสัตว์แล้ว ทำให้เกิดโรคได้; (กฎ) เชื้อจุลินทรีย์หรือผลิตผลจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในคนหรือสัตว์.
  68. เชื้อไฟ
    หมายถึง น. สิ่งที่ทำให้ไฟติดง่ายเช่นกระดาษหรือไม้ที่เกรียกเป็นชิ้นเล็ก ๆ.
  69. เชื้อไม่ทิ้งแถว
    หมายถึง (สำ) ว. เป็นไปตามเผ่าพันธุ์.
  70. เช็ค
    หมายถึง (กฎ) น. หนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้สั่งจ่าย สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับเงิน. (อ. cheque).
  71. เช็คขีดคร่อม
    หมายถึง (กฎ) น. เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น.
  72. เช็คขีดคร่อมทั่วไป
    หมายถึง (กฎ) น. เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคำว่า “และบริษัท” หรือคำย่ออย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้น และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น.
  73. เช็คขีดคร่อมเฉพาะ
    หมายถึง (กฎ) น. เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า และในระหว่างเส้นทั้งสองนั้น กรอกชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งลงไว้โดยเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารนั้น.
  74. เช็คไปรษณีย์
    หมายถึง (กฎ) น. ตราสารสำหรับขายแก่ประชาชนเพื่อประโยชน์ในการส่งเงิน โดยเจ้าพนักงาน ณ ที่ทำการไปรษณีย์แห่งหนึ่ง ให้เจ้าพนักงาน ณ ที่ทำการไปรษณีย์แห่งใดแห่งหนึ่งจ่ายเงินให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งระบุนามไว้หรือผู้ถือตราสารนั้น.
  75. เช็ด
    หมายถึง ก. ทำให้แห้งหรือให้สะอาดโดยใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีผ้าหรือกระดาษเป็นต้น เช่น เช็ดนํ้าตา เช็ดพื้น เช็ดถ้วยชาม, โดนถาก ๆ เช่น โดนหมัดเช็ดหน้าไป.
  76. เช็ดน้ำ
    หมายถึง น. เรียกวิธีหุงข้าวด้วยการรินนํ้าข้าวออกจากหม้อเพื่อให้แห้งว่า การหุงเช็ดนํ้า.
  77. เช็ดหน้า
    หมายถึง น. กรอบประตูหรือหน้าต่าง, กรอบเช็ดหน้า หรือ วงกบ ก็เรียก.
  78. เช็ดหม้อ
    หมายถึง ก. รินนํ้าข้าวออกจากหม้อเพื่อให้แห้งในการหุงข้าวด้วยวิธีเช็ดนํ้า.
  79. เช่น
    หมายถึง น. อย่าง, ชนิด, เช่น รู้เช่นเห็นชาติ เช่นนี้ เช่นใด. ว. เหมือน, ใช้นำหน้าคำประสมได้ แปลว่า อย่าง เช่น เช่นนี้ ว่า อย่างนี้, เช่นใด ว่า อย่างใด.
  80. เช่า
    หมายถึง ก. เข้าใช้ทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ของผู้อื่นชั่วคราว โดยให้ค่าเช่า; ซื้อวัตถุที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น เช่าพระพุทธรูป.
  81. เช่าช่วง
    หมายถึง (กฎ) ก. การที่ผู้เช่าเอาทรัพย์สินที่ตนเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าอีกทอดหนึ่ง.
  82. เช่าซื้อ
    หมายถึง (กฎ) น. ชื่อสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว.
  83. เช่าถือสวน
    หมายถึง ก. เช่าที่สวน.
  84. เช่าทรัพย์
    หมายถึง (กฎ) น. ชื่อสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น.
  85. เช่าพระ
    หมายถึง ก. ซื้อพระพุทธรูปหรือพระเครื่องไปบูชา.
  86. เช้ง,เช้งวับ
    หมายถึง (ปาก) ว. สวยเพราะตกแต่งงามเป็นพิเศษ เช่น งามเช้ง แต่งตัวเสียเช้งวับ.
  87. เช้า
    หมายถึง (โบ) น. กระเช้า เช่น ครั้นเช้าก็หิ้วเช้า. (ม. คำหลวง มัทรี).
  88. เช้า
    หมายถึง น. เวลาระหว่างรุ่งสว่างกับสาย, เวลาตั้งแต่รุ่งสว่างถึงเที่ยง. ว. ที่อยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่รุ่งสว่างถึงเที่ยง เช่น รอบเช้า ผลัดเช้า; เร็วกว่าเวลาที่กำหนดในระหว่างรุ่งสว่างกับสาย เช่น มาแต่เช้า; โดยปริยายหมายความว่า ก่อนเวลาที่กำหนด.
  89. เช้าตรู่
    หมายถึง น. เวลาสาง ๆ, เวลาที่แสงเงินแสงทองขึ้น, รุ่งอรุณ.
  90. เช้ามืด
    หมายถึง น. เวลาจวนสว่าง.
  91. แช
    หมายถึง ว. เถลไถลไม่ตรงไปตรงมา, มักใช้เข้าคู่กับคำ เชือน เป็น แชเชือน หรือ เชือนแช.
  92. แชงมา
    หมายถึง น. ชื่อขนมชนิดหนึ่ง.
  93. แชบ๊วย
    หมายถึง น. ชื่อกุ้งทะเลชนิด Penaeus merguiensis ในวงศ์ Penaeidae ขนาดเล็กกว่ากุ้งกุลาดำ ตัวสีอ่อนใส เปลือกขาว พบทั่วไปในทะเลชายฝั่งและในนํ้ากร่อย.
  94. แชรง
    หมายถึง [แชฺรง] (โบ) ก. แซง.
  95. แชร์
    หมายถึง น. การลงหุ้นเป็นจำนวนเงินและตามวาระที่กำหนดแล้วประมูลว่าจะให้ดอกเบี้ยเท่าไร ผู้ลงหุ้นที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุดจะได้รับเงินก่อน เวียนไปจนครบจำนวนผู้เล่น, เรียกการลงหุ้นเช่นนั้นว่า เล่นแชร์. (อ. share).
  96. แชล่ม
    หมายถึง [ชะแล่ม] ว. สวย, งดงาม, แช่มช้อย, แฉล้ม หรือ แสล้ม ก็ใช้.
  97. แชสซี
    หมายถึง น. โครงของรถยนต์ตามความยาวตัวถังรถ ทำด้วยโลหะแข็งแรง ซึ่งไม่รวมตัวถัง เครื่องยนต์ และล้อ, คัสซี ก็ว่า. (อ. chassis).
  98. แชะ
    หมายถึง (โบ) ว. แฉะ เช่น บเปื้อนแชะชํชล. (ม. คำหลวง วนปเวสน์).
  99. แช่
    หมายถึง ก. จุ้มหรือใส่ลงไปในนํ้าหรือของเหลวอย่างอื่นชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่น แช่นํ้า แช่ข้าว แช่แป้ง, โดยปริยายใช้หมายถึงอาการที่ชักช้าอยู่กับที่เกินสมควรโดยไม่จำเป็น เช่น ไปนั่งแช่อยู่ได้.
  100. แช่ง
    หมายถึง ก. กล่าวด้วยตั้งใจมุ่งร้ายเพื่อให้เขาเป็นเช่นนั้น.

 ความคิดเห็นในหัวข้อ "คำในภาษาไทย หมวด ช (หน้าที่ 9)"